กรมสรรพากรระบุจะเข้าไปตรวจภาษีเงินได้บริษัทต่างชาติในไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 3, 2000 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กรมสรรพากร
สรรพากรเริ่มไล่บี้หารายได้บริษัทต่างชาติ สอบพบโอนรายจ่ายจากนอกประเทศเป็นรายจ่ายบริษัทในไทย ส่งผลให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำ
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่ากรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจภาษีเงินได้บริษัทต่างชาติในไทย โดยจะเข้าไปตรวจเชิงลึกเกี่ยวกับผลดำเนินการของบริษัทเหล่านี้ ทั้งบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและบริษัทที่อยู่นอกเขตส่งเสริการลงทุน
"ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ผลดำเนินการของบริษัทในไทยส่วนใหญ่ขาดทุน โดยเฉพาะบริษัทของคนไทย ทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บลดลงอย่างมาก แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีบริษัทต่างชาติกลับมีผลดำเนินการขาดทุนอย่างผิดสังเกต โดยการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นพบว่ามีการโอนรายจ่ายจากบริษัทแม่หรือบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกันมาให้บริษัทในไทยรับผิดชอบ จนผลประกอบการขาดทุน"
กรมสรรพากรเห็นว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทต่างชาติในไทยน่าจะเพิ่มมากกว่าที่จัดเก็บในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของการจัดเก็บรายได้รวม ขณะนี้กรมสรรพากรเตรียมกำลังคนเพื่อตรวจสอบบริษัทต่างชาติแล้ว โดยต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมากในการดูระบบบัญชี และต้องประสานงานกับสรรพากรของต่างประเทศด้วยในเรื่องข้อมูล
ส่วนหนึ่งของการเข้าไปตรวจสอบบริษัทต่างชาติดังกล่าวเพราะต้องการขยายฐานภาษีให้มากยิ่งขึ้นและครอบคลุม เนื่องจากในปีงบประมาณ 2544 กระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ทั้งสิ้น 4.92 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับสรรพากรในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
"เป้าที่ได้รับมอบหมายมา เจ้าหน้าที่เห็นว่าสูงและเป็นไปได้ยากมาก แต่หากทำได้ก็ถือว่าต้องใช้ฝีมือในการทำงานอย่างมาก เพราะในปีภาษีใหม่นี้คาดว่าสภาพธุรกิจจะย่ำแย่กว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา แม้ว่าฐานการประเมินรายได้จะมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโต 5% แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงแย่กว่านี้"
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล 910,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ 805,000 ล้านบาท และกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณ 105,000 ล้านบาท และในปี 2544 คาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจประมาณ 4.5% และอัตราเงินเฟ้อ 3.0%
ประมาณการรายได้สุทธิ 805,000 ล้านบาท ปรากฏว่ามอบหมายให้กรมสรรพากรเก็บมากที่สุดคิดเป็น 53.0% รองลงมากรมสรรพสามิต 22.7% และกรมศุลกากร 12.3% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากส่วนราชการอื่น--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ