วิศวะมจธ.ย่อส่วนฟอร์มูล่า1 คว้าอันดับ 54 จาก 528 ทีมทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Monday March 21, 2016 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชมรม KMUTT Formula Student วิศวะมจธ. สร้างฟอร์มูล่า สติวเดนท์ ทำคะแนนดีสุดในรอบ 10 ปี ของรายการแข่งขัน TSAE Auto Challenge กวาดรางวัลทุกรายการ แถมสร้างชื่อ เด็กไทยคว้าลำดับที่ 54 ในโลก การแข่งขัน TSAE Auto Challenge หรือ การแข่งขัน Formula Student เป็นการสร้างและออกแบบรถแข่งที่ย่อส่วนมาจากการแข่งขันรถสูตร 1 มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกปี และได้รับความสนใจจากทีมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 30 ทีม โดยในปีนี้ ทีม Black Pearl VII Black mamba จากชมรม KMUTT Formula Studentมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กวาดรางวัลไปทุกประเภททั้ง Dynamics event และ Statics event ด้วยคะแนนรวม 936 คะแนนจาก 1,000 คะแนน ทุบสถิติคะแนนสูงสุดในรอบ 10 ปีที่มีการแข่งขันประเภทนี้มา ศิริพจน์ ศรีวิรัตน์ หรือน้องเฟียต นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ภาควิชาเครื่องกล กัปตันทีม Black Pearl VII Black mamba เปิดเผยว่า ชัยชนะครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสั่งประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นของชมรม KMUTT Formula Student โดยเป็นการศึกษาเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากปีก่อนๆ และต่อยอดความสำเร็จจากรุ่นพี่ กลายเป็นผลงานสุดภาคภูมิใจ ที่สำคัญในการรวมทีมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการรวมทีมกันของนักศึกษา 3 ภาควิชาคือเครื่องกล อุตสาหการและระบบควบคุมและเครื่องมือวัด เพื่อย่นระยะเวลาในการศึกษาเรียนรู้ระบบต่างๆ เป็นการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของนักศึกษาแต่ละภาควิชามาผสมผสานทำงานร่วมกันและใช้เวลาไปกับการพัฒนาสมรรถนะของรถให้มากยิ่งขึ้น "เรามีเวลาเพียงแค่ 10 เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในการสร้างรถ 1 คันที่ผ่านเราทำงานกันแทบจะ 24 ชั่วโมง ผมคิดว่าถ้าเรามีทีมที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วมาร่วมกันแชร์ความสามารถออกมาน่าจะทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น มีเวลาในการพัฒนางานมากที่สุด ประกอบกับเรามีความรู้และประสบการณ์ที่รุ่นพี่ๆ บุกเบิกไว้ดีมากๆ ครั้งนี้ก็ไม่เกินความคาดหมายมากนัก" จุดเด่นของ Black Pearl VII Black mamba หรือเจ้าไข่มุกดำคันนี้ อยู่ที่ระบบช่วงล่างที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วและที่สำคัญคือระบบเทเลบิตี้ เพื่อพัฒนานักขับให้เก่งเท่าๆ กัน ทุกๆ ปี จึงออกแบบระบบ Telemetry (real time coaching)นี้ขึ้น โดยนิพพิทา อินปินตา หรือน้องเยี่ยม นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 4 อธิบายว่า ระบบ Telemetry เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า "นักขับเก่งๆ ไม่ได้มีทุกๆ ปี และนักขับดีๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเองได้" พวกเขาจึงศึกษาระบบนี้จากสนามแข่งฟอร์มูล่าวัน สร้างระบบส่งข้อมูลจากรถมายังสนามซึ่งมีโค้ชช่วยวิเคราะห์ข้อมูลอาทิ การใช้พวงมาลัย การเข้าโค้ง แล้วส่งกลับไปยังนักขับให้ปรับปรุงการขับให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของรถคันนี้ในส่วนหัวข้อแข่งขันที่เป็น Business plan "ระบบช่วงล่างของเราถูกออกแบบโดยร่วมกับการศึกษาผลงานวิจัยด้านยางจากต่างประเทศมาวิเคราะห์และคำนวณ หาจุดต่ำสุดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสมรรถนะในการเข้าโค้งที่ดีขึ้น เอียงน้อยลง มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีความเบาด้วยบอดี้ที่ใช้วิธี Autoclave แบบเดียวกับที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับรถสปอร์ตทำให้มีน้ำหนักเบาต้านทานแรงลมน้อย" จากการทดสอบในสนามแข่งขันด้วยนักขับ 2 คน คนละ 11 รอบ ทีม Black Pearl VII Black mambaสามารถผ่านฉลุยด้วยเวลาเพียง 1408 วินาที ไม่แปลกใจที่กวาดอันดับดีๆรางวัลมาได้เกือบทุกรายการแข่งขัน นอกจากนี้ ผลงานของทีม Black Pearl VII Black mamba ยังสร้างชื่อให้กับประเทศไทยด้วยการถูกจัดอันดับให้ผลงานของเขาติด 1 ใน 10 จากทั้งหมด80 ทีม ในการแข่งขัน Student Formula Japan ที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ส่วนอันดับโลก ถูกจัดอันดับเวิลด์แรงกิ้งในอันดับ 54 จาก 528 ทีมทั่วโลก ล่าสุด ทีม Black Pearl VII Black mamba กำลังถูกพัฒนาใหม่อีกครั้งให้ดียิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน เพื่อรอเข้าไปเป็น 1 ใน 6 ทีมในสนามการแข่งขันรถ Student Formula Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะไปเข้าร่วมรายการแข่งขันในทวีปยุโรป ในอนาคตอีกด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ