สศท.10 ปักธง จ.เพชรบุรี 5 อำเภอ วางกำลัง ติดตามโครงการอบรมเกษตรกรที่ได้รับผลภัยแล้งต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 23, 2016 11:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี ติดตามโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ครั้งที่ 1 ทั้ง 5 รุ่น รวมเกษตรกร 150 ราย เผย เกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับดี ช่วยเสริมความรู้เพื่อนำไปใช้ได้จริง พร้อมลงพื้นที่ติดตามครั้งที่ 2 ดีเดย์ 17 มีนาคมนี้ นางรัชนี ปิ่นอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) โดยลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1 รวม 5 รุ่น โดยสัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นละ 30 ราย รวม 150 ราย ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ รุ่นที่ 1 อำเภอท่ายาง รุ่นที่ 2 อำเภอบ้านลาด รุ่นที่ 3 อำเภอหนองหญ้าปล้อง รุ่นที่ 4 อำเภอหนองหญ้าปล้อง และ รุ่นที่ 5 อำเภอเขาย้อย ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ถึง 10 มีนาคม 2559 พบว่า ความพึงพอใจด้านความพร้อมของศูนย์เรียนรู้ฯ ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และด้านการประชาสัมพันธ์ เกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับดี ส่วนใหญ่ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ต้องการให้ใช้ระยะเวลาการอบรมให้กระชับสั้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความต้องการให้จัดโครงการในลักษณะนี้ต่อไป เพราะเห็นว่าได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาก และอยากให้เน้นในเรื่องของอาชีพเสริมในชุมชน หลังจากว่างจากการทำนาหรือช่วงหยุดเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร พร้อมกับหาตลาดรองรับ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนอีกทางหนึ่ง โดย สศท.10 ส่วนแยกจังหวัดเพชรบุรี มีแผนจะลงพื้นที่ประเมินผลโครงการ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม ถึง 18 เมษายน 2559 ทั้งนี้ การดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ในการปฏิรูปการเกษตร สร้างการเรียนรู้ร่วมกันผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ จนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการรวมกลุ่มและให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร การเชื่อมโยงตลาด มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ