สศท.5 ตีกรอบ 4 จังหวัดอีสาน สำรวจเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และมันสำปะหลังโรงงาน ปี 59

ข่าวทั่วไป Wednesday March 23, 2016 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 วางกำลัง 4 จังหวัดอีสาน นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เจาะกลุ่มเกษตรกรกว่า 3 ร้อยหมู่บ้าน จัดเก็บข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรปี 59 และการสำรวจ Cutting มันสำปะหลังโรงงาน จนถึงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศท.5 มีแผนการในการออกจัดเก็บข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรปี 2559 และการสำรวจแบบ Cutting มันสำปะหลังโรงงาน ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ การสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลนั้น กำหนดตั้งแต่วันที่ 7 - 31 มีนาคม 2559 ภายในเขตหมู่บ้านตัวอย่าง โดยมีจำนวนตัวอย่างในการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 60 หมู่บ้าน และการสำรวจมันสำปะหลังโรงงาน โดยสัมภาษณ์เกษตรกร 6 รายต่อหมู่บ้าน จำนวน 327 หมู่บ้าน เพื่อรับทราบผลผลผลิตของเกษตรกร นอกจากนี้ จะสำรวจมันสำปะหลังโรงงานแบบ Cutting โดยกำหนดตัวอย่างจำนวน 82 หมู่บ้าน ซึ่งกระจายอยู่ในเขตท้องที่ต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เพื่อดูผลผลิตต่อไร่ สำหรับข้อมูลที่ได้ สศท.5 จะนำมาหาค่าประมาณการทางสถิติ และวิเคราะห์เพื่อหาค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ต้นทุน การผลิต รายได้ รายจ่าย และทรัพย์สิน หนี้สินของครัวเรือนเกษตร รวมทั้งจำนวนเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังโรงงานภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลและเก็บรวบรวมข้อมูลของการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตรกร และการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังโรงงานนั้น สศก. ได้ดำเนินการสำรวจเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละปี ว่าเกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่ในปัจจุบัน มีภาวะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากในแต่ละปีสภาพดินฟ้าอากาศมีสภาพที่แตกต่างกัน เกษตรกรประสบกับปัญหาในด้านแตกต่างกันไป นายสมมาตร กล่าวทิ้งท้ายว่า สศท.5 ขอขอบคุณเกษตรกรในทุกหมู่บ้านที่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตอบแบบสอบถามและให้ข้อมูลเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ สามารถจะนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและตรงจุดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาทางการเกษตรของประเทศต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ