ผู้ปกครอง 80.04% ชี้การศึกษาไทยต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน อยากให้ปฏิรูปหลักสูตร คุณภาพครู อาจารย์ และเนื้อหามากที่สุด สอดคล้องกับหลักสูตรที่เด็กเรียน

ข่าวทั่วไป Thursday March 24, 2016 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 ถึง 18 มีนาคม พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,132 คน ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบันมีนโยบายปลดล็อคการศึกษาและปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลภายใน 1 ปีครึ่ง โดยได้สรุปปัญหาใหญ่ๆที่ต้องมีการจัดการออกมาเป็น 6 เรื่อง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการปฏิรูปการศึกษามีการพูดถึงกันอย่างยาวนานและได้มีการกำหนดไว้ในนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลทุกชุด แต่จนถึงปัจจุบันผู้คนในสังคมทั้งนักวิชาการด้านการศึกษา ครูอาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้คนทั่วไปก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆของการศึกษาไทย ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนน่าจะได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไทยเพื่อเป็นข้อมูลสะท้อนให้กับสังคมได้รับทราบ ดังนั้นจากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งแบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 51.94 และเพศชายร้อยละ 48.06 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 36 ถึง 45 ปี สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไทย กลุ่มตัวอย่างถึงสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 80.04 มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเร่งด่วนแล้ว สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งกลุ่มตัวอย่างอยากให้มีการปฏิรูปมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ เรื่องหลักสูตรการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 83.48 เรื่องคุณภาพของครูอาจารย์ผู้สอนคิดเป็นร้อยละ 81.27 และเรื่องเนื้อหาของบทเรียนคิดเป็นร้อยละ 78.09 ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาไทย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.3 มีความคิดเห็นว่าการทำให้นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.34 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดให้ครูอาจารย์ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพมาตรฐานบุคลากรทางการศึกษาจะส่งผลให้ครูอาจารย์มีเวลาทุ่มเทการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.53 มีความคิดเห็นว่าไม่ส่งผล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.13 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 47.08 เชื่อว่าข้อสอบการวัดมาตรฐานทางการศึกษาต่างๆที่นำมาให้นักเรียนทดสอบมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนที่นักเรียนได้รับจากสถานศึกษาทั้งหมด ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 42.23 ไม่เชื่อ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.69 ไม่แน่ใจ ในด้านความคิดเห็นต่อนโยบายการจัดการปฏิรูปการศึกษาให้เห็นผลภายในระยะเวลา 1 ปีครึ่งนั้น ตามที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้สรุปเรื่องสำคัญ 6 เรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.86 มีความคิดเห็นว่าเรื่องหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องการผลิตและพัฒนาครูคิดเป็นร้อยละ 26.41 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.26 มีความคิดเห็นว่าเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.13 ร้อยละ 6.01 และร้อยละ 4.33 มีความคิดเห็นว่าเรื่องการทดสอบการประเมินการประกันคุณภาพและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา เรื่องการผลิต พัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเรื่องการบริหารจัดการทั้งการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการและการกระจายอำนาจ ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.56 เห็นด้วยว่าการดำเนินการทั้ง 6 เรื่องข้างต้นจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาไทยเห็นผลเป็นรูปธรรมได้จริง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.91 มีความคิดเห็นว่าการดำเนินการทั้ง 6 เรื่องตามข้างต้นจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้นได้จริง แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.8 ไม่เชื่อว่าการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไทยจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ทันภายใน 1 ปีครึ่ง ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ