ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2001 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารและสอดคล้องกับกระบวนการทางด้านการตลาด มุ่งสู่การให้บริการที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม(Customer Focus) เพิ่มประสิทธิผลการดำเนินงานและรองรับต่อสภาวะการแข่งขัน หลังจากที่ได้มีการปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารจะปรับโครงสร้างองค์กรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพื่อนำสู่ระบบการบริหารจัดการที่กระชับยิ่งขึ้นและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านการขายและการให้บริการแก่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ลดต้นทุนทางด้านการบริหาร เพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานของธนาคาร (Productivity Improvement) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายและแผนธุรกิจของธนาคารในปีนี้ หลังจากที่ธนาคารมีผลประกอบการเป็นกำไรมาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และระดับผู้จัดการฝ่าย แยกหน่วยงานดูแล ผลิตภัณฑ์ (Product Management) และการตลาด(Marketing Management) การบริหารช่องทางและเครือข่าย(Channel Management) และงานด้านปฏิบัติการ(Operation) ปรับระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อนของฝ่ายต่างๆ การจัดตั้งฝ่ายใหม่และกำหนดบทบาทหน้าที่การทำงานให้มีความเหมาะสมและชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรธนาคารให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่
1.ด้านระบบการตรวจสอบภายใน เพิ่มตำแหน่งผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เป็น Chief Audit Executive มีหน้าที่ดูแลงานตรวจสอบภายในทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานโดย ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายตรวจสอบระบบสารสนเทศและขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคาร
2. ด้านการบริหารความเสี่ยง แยกงานพิจารณาความเสี่ยงสินเชื่อแต่ละรายออกจาก หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการตลาดและอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้มีความเห็นที่เป็นอิสระในด้านความเสี่ยงของสินเชื่อ โดยธนาคารได้จัดตั้งฝ่ายบริหารความเสี่ยงสินเชื่อเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสำนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงสินเชื่อจะพิจารณาความเสี่ยงด้านสินเชื่อทุกประเภทขึ้นตรงต่อสายงานบริหารความเสี่ยงและวางแผน สำหรับสายงานธุรกิจขนาดย่อม มีการโอนงานเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs)บางส่วนจากฝ่ายพัฒนาธุรกิจไปอยู่ที่ฝ่ายพัฒนาสินเชื่อซึ่งรับผิดชอบงานด้านติดตามและแก้ไขหนี้มีปัญหาของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)
3. ด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดลูกค้าบุคคล เสริมสร้างความสามารถในการพัฒนาและวางแผนการตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าบุคคล โดยขยายบทบาทความรับผิดชอบของสายงานบัตรเครดิตเดิมเป็น สายงานการตลาดลูกค้าบุคคลและจัดตั้งฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ลูกค้าบุคคลมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับพัฒนาระบบการบริหารลูกค้าบุคคลและทำการตลาดผลิตภัณฑ์ลูกค้าบุคคล รวมทั้งบริการใหม่ๆ ด้านเงินฝากด้วย เปลี่ยนสายงานเงินฝากและบริการเป็นสายงานบริหารเครือข่ายสาขา ประกอบด้วย ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสาขา 1 และ 2 ดูแลสาขาในเขตกรุงเทพและสาขาต่างจังหวัด ควบคุมคุณภาพการให้บริการของสาขา(Service Quality) และการบริหารทรัพยากรของสาขาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Cost Efficiency) เปลี่ยนฝ่ายพัฒนา- ธนกิจ 4 เดิม เป็นฝ่ายธนบดีธนกิจดูแลลูกค้าเงินฝากขนาดใหญ่และสถาบัน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ เกี่ยวข้อง โอนฝ่ายธุรกิจแลกเปลี่ยนและเงินโอนต่างประเทศมาขึ้นกับสายงานต่างประเทศ เพื่อให้มีการบริหารระบบงาน Back Office ด้านธุรกิจแลกเปลี่ยน การค้าต่างประเทศ การบริหารการเงินและธุรกิจตลาดทุนอย่างมีเอกภาพ ยกระดับสำนักงานสนับสนุนระบบงานสาขาเป็นฝ่ายสนับสนุนระบบงานสาขา นอกจากนี้การพัฒนาระบบเครือข่ายสาขาด้วยการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีที่ใช้กับสำนักงานสาขาของธนาคาร ทั่วประเทศได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในปัจจุบัน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจ ประสิทธิผลในการดำเนินงาน และการให้บริการที่มี คุณภาพเหนือมาตรฐานและความต้องการของลูกค้า การพัฒนาระบบการบริหารที่มีความเป็นสากลมากขึ้นและมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่มีการบริหารและการจัดการที่ดีที่สุดของประเทศ--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ