นิสิต Chulalongkorn Business School ตอกย้ำความเป็นหนึ่ง ล่าสุดคว้ารางวัลใหญ่ด้านบัญชีและการเงิน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 12, 2016 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ เดินหน้าไม่หยุดกับการสร้างชื่อให้กับสถาบันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ หรือ Chulalongkorn Business School ภาควิชาการบัญชีแข่งขันตอบคำถามวิชาชีพบัญชีระดับประเทศ ชนะเลิศ 3 ปีซ้อน จนสามารถคว้าถ้วยรางวัลถาวรเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้านนิสิต ภาควิชาการธนาคารและเงินก็ไม่น้อยหน้า ชนะเลิศระดับประเทศ ในการแข่งขันของสมาคม CFA องค์กร ที่จัดให้มหาวิทยาลัยทั่วโลกมาร่วมแข่งขันวิเคราะห์หุ้น ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าแข่งขันต่อ ในระดับภูมิภาค ถือเป็นอีกหนึ่งใน 100 สุดยอดความภาคภูมิใจที่คณะฯ จะจัดงานแสดงความยินดีขึ้น ในวันที่ 19 เมษายนนี้ ไตรย ต่อศรีเจริญ ตัวแทนทีมชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถามทางบัญชีระดับประเทศ Thailand Accounting Challenge กล่าวว่า การแข่งขันเวทีนี้เป็นเหมือนเวทีสุดยอดของชาวการบัญชีในระดับอุดมศึกษาซึ่งจุฬาฯ คว้ารางวัลชนะเลิศมาครองติดต่อกัน 3 ปีซ้อน จนสามารถคว้าเอาถ้วยรางวัลถาวรมาครองได้สำเร็จ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจให้กับคณะฯ "การแข่งขันเวทีนี้จะต่างจากเวทีอื่นตรงที่ อาจารย์ทั้งภาควิชาจะเวียนกันมากรุณาติวให้กับนิสิต ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของคณะฯ ไปสอบ อาจารย์จึงเป็นเหมือนทีมติวการแข่งขันทุกปี เลยมี ความคาดหวังค่อนข้างเยอะ ยิ่งที่ผ่านมาจุฬาฯ ชนะมาแล้ว 2 ปีซ้อน ชนะอีกปีก็จะได้ถ้วยถาวรมาครอง ก็ยิ่งตั้งความหวังไว้มาก เมื่อผลออกมาชนะจึงเป็นความภาคภูมิใจของทั้งเราและอาจารย์" ไตรยกล่าว ไตรยกล่าวว่า เวทีนี้จะกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถส่งเด็กเข้าแข่งขันได้ 2 ทีมๆ ละ 3 คน การแข่งขันจะเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับวิชาการบัญชีทั้งหมด โดยจะแยกย่อยออกเป็น 6 สาขา คือ การเงิน บริหาร จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ ภาษี ระบบบัญชีสารสนเทศ และการตรวจสอบบัญชี ซึ่งกว่า 80 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีม มหาวิทยาลัยที่ชนะการแข่งขันจะได้รับถ้วยเวียนไปครอง แต่หากสามารถชนะการแข่งขันได้ถึงสามปีซ้อนก็จะได้รับถ้วยรางวัลถาวร ทั้งนี้ในการเตรียมตัว ทางทีมเพียงแค่ทบทวนเนื้อหาที่เรียนในภาควิชา ซึ่งครอบคลุมเพียงพอใช้ ในการแข่งขันอยู่แล้ว โดยมีท่านอาจารย์ในภาควิชามาช่วยติวเสริมทุกวันเป็นเวลานาน 2-3 เดือน ทำให้ ช่วงระหว่างติว ทางทีมได้เรียนรู้เนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้นจากที่เรียนในห้องเรียน นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่มาจากประสบการณ์การทำงานจริงด้วย เนื่องจากผู้ออกข้อสอบเป็นผู้บริหารของสำนักงานตรวจสอบบัญชี ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อจบออกไปทำงาน จึงอยากแนะนำให้น้องๆ ได้สมัคร เข้าคัดเลือกเป็นตัวแทนคณะฯ ในปีหน้าด้วย ด้านพิชชากร โผกรุด ตัวแทนทีมผู้เข้าแข่งขันวิเคราะห์หุ้นของสมาคม CFA กล่าวว่า CFA เป็นองค์กรระดับนานาชาติ ที่จัดให้นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เข้าร่วม การแข่งขันวิเคราะห์หุ้น โดยจะแบ่งออกเป็น 3 รอบ คือรอบแรกจะเป็นการแข่งขันระดับประเทศ เพื่อหาทีมที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันระดับภูมิภาค ซึ่งจุฬาฯ ชนะการแข่งขันนี้ และได้เป็นตัวแทน ของประเทศไทย ในการเข้าแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในเอเชียแปซิฟิค "ทุกคนในทีมและอาจารย์ต่างทุ่มเทกับการแข่งขันครั้งนี้มาก และตั้งใจที่จะไปให้ได้ถึงรอบสุดท้ายในระดับโลก ซึ่งจะเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน และของคณะฯ ด้วย งานนี้ใช้เวลานาน 5-6 เดือน พวกเราทำงานกันหนักมาก แทบไม่ได้พักผ่อนกันเลย มองว่าเป็นความคาดหวังของมหาวิทยาลัย ที่ถ้าเรา ทำได้ ก็จะเป็นความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ในชีวิต พอได้รับรางวัลชนะเลิศทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทุ่มเทไป มีความหมาย คุ้มค่ากับการลงทุน และมีกำลังใจที่จะไปคว้ารางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาคต่อไป" พิชชากรกล่าว ตัวแทนทีมแข่งขัน CFA กล่าวเสริมอีกว่า การแข่งขันเหมือนเป็นการเตรียมพร้อมก่อนไปทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันบนเวทีใหญ่ๆ ระดับโลก ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ใกล้ชิดกับคนเก่งๆ ระดับโลก ที่สำคัญระหว่างการแข่งขันมีผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ มาเสนองานให้ทำด้วย จึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ออกไปแข่งขันตามเวทีต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกเยอะมาก ผลที่ได้ดีกว่ามานั่งเรียนเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ Chulalongkorn Business School จะจัดงานเชิดชูเกียรติคณาจารย์ และนิสิตกว่า 100 คนที่สร้างชื่อเสียงแก่คณะในระดับชาติ และนานาชาติในวันที่ 19 เมษายน 2559 ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ