พด. ชี้ ! จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง..ได้อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Saturday April 16, 2016 10:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--กรมพัฒนาที่่ดิน พด. ชี้แนะมาตรการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อการเกษตร เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินได้ยาวนาน เกษตรกรต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกัน จัดทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อลดความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและทำให้พืชที่ปลูกไว้สามารถอยู่รอดได้ในช่วงประสบกับภาวะภัยแล้ง นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากปัญหาภาวะภัยแล้งในปี ๒๕๕๘ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักไว้ใน ๓๓ เขื่อนหลัก และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้หลายพื้นประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร สร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรในวงกว้าง และจากการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ความเสียหายที่เกิดจากภาวะภัยแล้งในปี ๒๕๕๘ ครอบคลุมพื้นที่ ๒.๘๗ ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความเสียหายจริง แยกเป็นพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง ได้แก่ ข้าว ๒ ล้านไร่ พืชไร่ ๘๖๒,๖๒๘ ไร่ พืชสวน ๕,๓๔๘ ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน ๒๗๒,๗๔๓ ราย ความเสียหายคิดเป็นปริมาณผลผลิต ๖.๑๐ ล้านตัน มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า ๑๕,๕๑๔ ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด รองมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ตามลำดับ เบื้องต้นเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบปี ๒๕๕๘/๕๙ จำนวน ๘ มาตรการ ๔๕ โครงการ ผ่านการขับเคลื่อนงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี ๒๕๕๘/๕๙ ระดับชาติ (ศก.กช.) โดยมีหลายหน่วยงานที่มาบูรณการร่วมดำเนินการร่วมกัน จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน พื้นที่ทำการเกษตรขาดแคลนน้ำ ทำให้พืชที่ปลูกได้รับความเสียหาย ในเบี้องต้นทางกรมพัฒนาที่ดินได้แนะแนวทางจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการร่วมมือ ร่วมใจกันทุกฝ่าย และปฏิบัติตามคำแนะนำ งการอนุรักษ์ดินและน้ำมี 2 มาตรการ คือ มาตรการทางวิธีกล และมาตรการทางวิธีพืช มาตรการทางวิธีกล คือ การอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการควบคุมน้ำไหลบ่าหน้าดิน สร้างสิ่งกีดขวางความลาดเทของพื้นที่และทิศทางการไหลของน้ำ ช่วยลดและชะลอความเร็วของกระแสน้ำ เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ค่อนข้างถาวรมีประสิทธิภาพ แต่การลงทุนค่อนข้างสูง เช่น การไถพรวนและปลูกพืชตามแนวระดับการไถพรวนหว่านปลูกและเก็บเกี่ยวพืชไปตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่ เพิ่มการซึมซับน้ำของดินและรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน ส่วนในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมีการทำขั้นบันไดดิน ปรับพื้นที่เป็นขั้นๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อปลูกพืช ลดความยาวและระดับความลาดเท มาตรการทางวิธีพืช เป็นวิธีการจัดระบบพืชโดยการผสมผสานกัน ระหว่างมาตรการนุรักษ์ดินและน้ำ และการจัดระบบพืชปลูกเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของพืช การปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีนี้ มีการลงทุนที่ต่ำเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง โดยใช้พืชตระกูลถั่ว หญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหญ้าแฝก ปลูกเป็นแถบขวางความลาดเทของพื้นที่ ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องไม่เผาทำลายเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาหรือตอซังพืช มีการไถพรวนให้ถูกวิธี ไม่ไถพรวนขึ้นลงตามความลาดเทของพื้นที่ แต่ไถพรวนขวางความลาดเทของพื้นที่ และไม่ทำการไถพรวนบ่อยครั้ง ควรปลูกพืชให้ถูกวิธี ปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน คลุมดินและปลูกตามแนวระดับ ปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน ทั้งนี้ การจัดการเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้มีการเก็บกักน้ำ การชะลอการไหลของน้ำและการเพิ่มระยะเวลาการไหลของน้ำให้ยาวนานขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิถีการพัฒนาที่ดิน เพื่อช่วยลดความเสียหายของพื้นที่ทำการเกษตรจากการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากฝนทิ้งช่วงในช่วงฤดูฝน ตัวเกษตรกรเองต้องลงมือทำอย่างจริงจังในพื้นที่ของตนเอง เริ่มต้นจากครัวเรือนสู่ครัวเรือน จากชุมชนสู่ชุมชน ให้ความร่วมมือกันจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ พร้อมปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมกันลงมือทำในทุกพื้นที่เสมือนเป็นจิกซอว์เชื่อมต่อๆ กัน จนกลายเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่พืช ทำให้มีผลผลิตในช่วงฤดูแล้ง สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยกันพัฒนาพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อการทำเกษตรได้มากยิ่งขึ้น.. อธิบดีสุรเดช กล่าวในท้ายที่สุด
แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ