วิศวะเครื่องกล จับทีมเปิดให้บริการวิชาการธุรกิจ Start up แห่งแรกจาก มจธ.

ข่าวทั่วไป Monday April 18, 2016 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ป.โท วิศวกรรมเครื่องกล มจธ. โชว์ป๋าเปิดบริษัทดันไอเดียนวัตกรรมสู่การลงทุนให้เป็นจริง ลบจุดอ่อนวิศวกรด้วยองค์ความรู้ทางธุรกิจ เฮรับ Start up รุ่นบุกเบิกจากรั้วพระจอมเกล้าธนบุรี Lab on a Chip เป็นเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ขนาดจิ๋วที่กำลังเป็นกระแสของโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และในประเทศไทยเองก็มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจในการพัฒนาเช่นกัน โดย ผศ.ดร.วิศนุรักษ์ เวชสถล และทีมวิจัยจาก ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ก็เป็นหนึ่งกลุ่มคนที่มองเห็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ศุภกร อิสสระกุล ศิษย์เก่าปริญญาโท จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. กล่าวว่า ตนได้เข้าร่วมวิจัย Lab on a Chip ตั้งแต่เข้าเรียนปริญญาโท โดยมี ผศ.ดร.วิศนุรักษ์ เป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด แต่เนื่องจากการวิจัยและพัฒนา Lab on a Chip เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ต้องใช้เวลานานและใช้ทุนสูง จึงได้มองหาช่องทางต่างๆ ในการผลักดันผลงานหลายเรื่องที่เกิดขึ้นภายใน lab ให้ออกเป็นธุรกิจเพื่อหาทุนมาสนับสนุนการพัฒนา Lab on a Chip นวัตกรรมการย่อระบบการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการมาสู่การแสดงผลบนแผ่นชิพขนาดเล็ก โดยในเบื้องต้นได้พัฒนาเครื่องต้นแบบชุดตรวจโรคซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่อไป "เมื่อประมาณปี 57 จังหวะนั้นเป็นช่วงที่ มจธ. ได้จัดโครงการประกวด Start up Company ขึ้นเป็นปีแรกผมและพี่น้องใน lab จึงรวมทีมกันเพื่อเขียนแผนธุรกิจส่งเข้าประกวดโครงการนี้ แต่เรามาจากวิศวกรรมล้วนๆ เรื่องธุรกิจนั้นเริ่มจากศูนย์ เราต้องหาข้อมูลว่าธุรกิจเค้าทำกันอย่างไร รายได้จะมาจากไหน หาข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ ความเป็นไปได้ ความเสี่ยง จนกระทั่งเราสามารถเขียนแผนธุรกิจขึ้นมาได้และส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลที่หนึ่งในเรื่อง Business Model ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ให้ทุนสนับสนุน และให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ฟูมฟักจนกระทั่งเกิดเป็นบริษัท start up ขึ้นมาได้" ศุภกร กล่าว ศุภกร กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวเมื่อสองปีก่อนจึงได้เกิด บริษัท MMED หรือ รวมพหุวิทยาการวิศวกรรม ขึ้นและนับเป็น Start up ลำดับที่ 1 จากรั้ว มจธ. ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยโดยบริษัท นววิวรรธ ซึ่งเป็น บ.Holding Company ของ มจธ. ร่วมเป็นหุ้นส่วน ปัจจุบัน MMED เปิดดำเนินธุรกิจประเภทงานบริการวิชาการด้านวิศวกรรมก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว โดยบริษัทมีแนวโน้มในการเติบโตขึ้นในทุกปี ซึ่งในปีที่ 3 นี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มทุนเป็น 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงาน Full Time ระดับปริญญาโทจำนวน 9 คน "MMED ให้บริการด้านวิศวกรรมที่หลากหลาย จุดแข็งของเราคือ Engineering ภายใต้สโลแกน Absolute Solution เราคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการในปัจจุบัน เพื่อผลักดันนวัตกรรมออกไปสู่ผู้ลงทุนรายต่างๆ โดยเราจะเป็น Engineering Support ในเรื่องเทคนิคให้อีกที เราทำงานบริการวิชาการทั้งด้าน Health Care, Food Industry และกำลังจะเริ่มในส่วนของ Power Plant ปัจจุบัน MMED ได้พัฒนา นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเอกชนหลายแห่งทั้งระดับ SME และระดับมหาชน ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางที่ดีในการเติบโตของบริษัท แต่ข้อเสียของวิศวกรคือเราไม่รู้เรื่องธุรกิจดังนั้นในแต่ละโปรเจกที่บริษัทผลักดันออกไปเราไม่ได้ดูแลในเรื่องธุรกิจเองทั้งหมด แต่ให้ผู้ลงทุนในแต่ละโปรเจกเป็นคนดำเนินธุรกิจโดยมี MMED เป็นหุ้นส่วนและที่ปรึกษา เราจึงพยายามลบจุดอ่อนของวิศวกรด้วยการเรียนรู้และหาข้อมูลเรื่องการดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมีการ pitching หรือสัมมนาธุรกิจที่ไหนเราก็จะไปฟังเพื่อแสวงประสบการณ์จากคนที่เค้าทำมาแล้ว ไม่ว่าจะทำ Financial Analysis, SWOT Analysis การวิเคราะห์แผนธุรกิจ จุดแข็ง จุดเสี่ยง เดี๋ยวนี้เราก็ทำได้และมีความเข้าใจมากขึ้น" ล่าสุด MMED กำลังตั้งบริษัทย่อย Outpatient Services International ขึ้นเพื่อดูแลนวัตกรรมเครื่องจ่าย ยาแผงอัตโนมัติที่จะช่วยลดเวลาในการรอรับยาของคนไข้ในโรงพยาบาลซึ่งได้จดสิทธิบัตร และมีบริษัทพร้อมเข้าร่วมลงทุนแล้ว ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจาก MMED ก็ถูกนำมาใช้ในการวิจัยพัฒนา lab on a chip ต่อไป ศุภกร กล่าวทิ้งท้ายว่าคนรุ่นใหม่ที่อยากทำ start up ว่าต้องรู้ตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร และอยากเป็นอะไร เพราะเทรนด์ตอนนี้ใครๆ ก็อยากทำอะไรที่เป็นของตัวเองเพราะทุกคนมีความฝัน แต่มันมีปัจจัย ข้อจำกัด และความเสี่ยงหลายด้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็น start up ที่ประสบความสำเร็จคือต้องรู้ตัวเองว่าต้องการอะไร และเข้าใจทิศทางของสิ่งๆ นั้นจริง ๆ ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะสวยหรูมาตั้งแต่เริ่ม ดังนั้นหากมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วถ้าวันหนึ่งมันล้มเหลวก็ต้องยอมรับได้ แล้วลุกขึ้นยืนอีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ