สรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤษภาคม 2543 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Tuesday June 13, 2000 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กระทรวงพาณิชย์
การส่งเสริมการค้าชายแดน
ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดนครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ผลการประชุมสรุปดังนี้
1.การดำเนินการด้านความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับกัมพูชาที่ประชุมเห็นควรให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในด้านต่างๆ คือ
1.1 ความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับการสมัครเป็นสมาชิก WTO
1.2 การนำสินค้าเกษตรจากกัมพูชา 15 รายการ
1.3 การลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาในไทย
1.4 การสัมมนาส่งเสริมการค้าและการลงทุน
1.5 การพัฒนาทรัพยากรบุคคล
1.6 ความร่มมือด้านพลังงานไฟฟ้า
2.การนำเข้าสินค้าเกษตรจาก สปป.ลาวที่ประชุมมอบให้กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะฯ นำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณโควตาพิเศษจากสปป. ลาวและกัมพูชา โดยเฉพาะรายการที่ซ้ำกับสินค้าเกษตร 23 รายการภายใต้ WTO
3.การส่งเสริมการลงทุน การผลิตและนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากสปป.ลาว โดยจะจัดคณะผู้แทนการค้าไทยที่เกี่ยวข้องเดินทางไปเยือน และจดบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน รวมทั้งจัดฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่บุคคลของสปป.ลาว
4.การแก้ไขปัญหาการปิดด่านชายแดนของพม่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่ได้แจ้งให้ไทยทราบถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนไทย-พม่า ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมเห็นควรให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมข้อความเงื่อนไขการปิดด่านตามตกลงในระดับพหุภาคีของอาเซียน ซึ่งจะเป็นพันธกรณีผูกพันให้พม่าเปิดด่านชายแดน
การรักษาสิทธิพิเศษทางการค้า
สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการแสดงแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับเครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม ซึ่งเมื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้วจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าดังกล่าวของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการขอเสียงสนับสนุนการคัดค้านในทุกเวทีและจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ไปสหรัฐฯ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และไต้หวัน ตลอดจนสมาชิกอาเซียน นับเป็นการดำเนินการคัดค้านที่มีการร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ส่งผลให้ได้รับการสนับสนุนจาก Congreessmen ของสหรัฐฯ ในการยกเรื่องเรื่องขึ้นมาหารือกับ Senator Reed ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2543 และที่ประชุมมีมติให้ถอนร่างนี้ออกตามข้อคัดค้าน
การบริหารการส่งออกสินค้าสำคัญ
การเดินทางไปเยือนประเทศในทวีปแอฟริกา 3 ประเทศ ได้แก่โกตดิวัวร์ เซเนกัล และกานา ระหว่างวันที่ 14-21 พฤษภาคม 2543 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการขายตลาดข้าวของไทย ซึ่งผลการเดินทางสรุปดังนี้
โกตดิวัวร์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ทำความตกลงการค้า เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าในด้านต่างๆ คือ
1.ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารการค้าระหว่างกัน
2.การค้าขายโดยตรงระหว่างกันเพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการค้าผ่านนายหน้าในยุโรป
3.การสร้างความเชื่อถือของระบบธนาคารระหว่างกัน เพื่อให้เอกชนสามารถทำการค้าได้โดยตรง
เซเนกัล ได้ขอความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือทางการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมการปศุสัตว์ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์ โดยเฉาะการจัดตั้งโรงงานทำเนื้อตากแห้ง ซึ่งไทยมีความชำนาญในด้านนี้ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือจัดตั้งโรงงาน
เซเนกัลเป็นตลาดข้าวประจำของไทย ผู้บริโภคนิยมข้าวไทยสูงสุด ในโอกาสต่อไปไทยจะเชิญคณะผู้แทนการค้าของเซเนกัลมาเยือน เพื่อเปิดโอกาสให้พบปะเจรจากับผู้แทนภาครัฐและเอกชนถึงลู่ทางปัญหาข้อขัดข้องและความต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบที่จะเอื้อประโยชน์ให้เกิดการซื้อขายขึ้นได้
กานา ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยกานามีความสนใจวิชาการด้านเทคโนโลยีการเกษตรการบริการจัดการด้านท่องเที่ยว การสื่อสารอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ไทยมีความชำนาญ รวมทั้งขอให้ไทยร่วมจัดตั้งโรงงานผลิตขนมชอกโกแลตซึ่งกานามีผลผลิตโกโก้มากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ
กานาเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีของไทยและเป็นประตูขยายการค้าของไทยไปประเทศแอฟริกาตะวันตกอื่นๆ ที่มิใช่สมาชิกกลุ่ม EUMOR8
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ(AEM Retreat) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-2พฤษภาคม 2543 ณ กรุงย่านกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 ปัญหามาเลเซียไม่ลดภาษีสินค้ารถยนต์ในอาฟต้า
ตามที่มาเลเซียไม่ได้โอนย้ายสินค้ารถยนต์ประเภท CKD/CBU เข้ามาลดภาษีในอาฟต้าตามกำหนดในวันที่ 1 มกราคม 2543 นั้น ไทยได้พยายามโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เห็นด้วยกับการนำกฎเกณฑ์ภายใต้มาตรา 28 ของแกตต์มาประยุกต์ใช้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมมีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผลเท่ากับเป็นการที่มาเลเซียต้องการแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลงอาฟต้า (CEPT Agreement) จึงมีมติให้ใช้ข้อกำหนดของมาตรา 28 ของแกตต์เป็นพื้นฐาน โดยให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) จัดทำวิธีการ (Modality) เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงพันธกรณีของประเทศสมาชิก และให้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรี เศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 32 ในเดือนตุลาคม 2543 พิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งจะได้พิจารณากรณีมาเลเซียชะลอการโอนย้ายสินค้ารถยนต์จากบัญชียกเว้นลดภาษีชั่วคราวเข้ามาสู่บัญชีลดภาษีจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2548 โดยใช้ Modality ที่จะตกลงกันต่อไปเป็นกรอบในการพิจารณา
สำหรับข้อกำหนดในมาตรา 28 ของแกตต์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขอปรับปรุงแก้ไขตารางขอลดหย่อนภาษีศุลกากร ซึ่งกำหนดว่าสมาชิกสามารถขอแก้ไขตารางข้อลดหย่อนของตนที่ผูกพันใน WTO ได้ โดยต้องเจรจากับสมาชิกที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลประโยชน์ชดเชย (compensation) ซึ่งอาจเป็นไปในรูปของการลดภาษีสินค้าอื่นแทน ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ประเทศที่ต้องการแก้ไขข้อผูกพันก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบก็มีสิทธิเพิกถอนสิทธิประโยชน์ของตนเองที่ให้แก่ประเทศผู้ขอแก้ได้เช่นกัน
1.2 ความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน(e-ASEAN Agreement)
ประกอบด้วยการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล การอำนวยความสะดวกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนสำหรับสินค้าและบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร (Information and Communiction Technology: ICT goods and services) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (e-society) และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็คทรอนิกส์ของอาเซียนจัดทำความตกลงในรายละเอียด
สำหรับการเปิดเสรีสินค้า ICT ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะให้เปิดเสรีให้มากกว่าในความตกลง ITA-1 ของ WTO โดยอาจมีขอบเขตสินค้ามากกว่าและเร่งรัดระยะเวลาให้เร็วขึ้นทั้งนี้ให้คำนึงถึงความพร้อมของประเทศสมาชิกด้วย
1.3 การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างอาฟต้ากับเขตการค้าเสรีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
ที่ประชุมรับทราบการรายงานโดยประธานคณะทำงานระดับสูงอาเซียนและออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เรื่องผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการ วัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหาและระยะเวลาการเปิดเสรีระหว่าง AFTA และ CER แล้วเห็นว่าปัจจุบันการค้าระหว่างกันยังมีเพียงเล็กน้อย แต่ในระยะยาวจะมีศักยภาพสูง อุปสรรคสำคัญของการค้าระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ คือมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (SPS และ TBT) มากกว่ามาตรการด้านภาษี จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการปรับโครงสร้างแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและขอให้คณะทำงานฯ เน้นศึกษาประเด็นอุปสรรคด้านมิใช่ภาษี กำหนดเวลาในการปรับตัวที่แตกต่างกัน และการลดภาษีที่เกิดประโยชน์ต่ออาเซียน รวมทั้งยังได้ย้ำถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรี AFTA-CER จะต้องผ่านการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งจะพิจารณาผลการศึกษาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนและรัฐมนตรี การค้าออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ในเดือนตุลาคม ศกนี้ ต่อไปการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี (AEM+3)
ที่ประชุมได้ตกลงแนวทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและแผนปฏิบัติงานในสาขาต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1.1 เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการค้าการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ร่วมกันขจัดอุปสรรคการค้าด้านมาตรการมิใช่ภาษี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง เป็นต้น
1.2 สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยพัฒนาความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี
1.3 การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง โดยขอให้จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีให้ความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเพื่อลดช่องว่างระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค
1.4 เพิ่มการความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียน โดยเฉพาะให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกใหม่
1.5 สนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยผ่านโครงการเครือข่ายต่างๆ เช่น สภาธุรกิจการค้าเอเซียตะวันออก (East Asia Business Council) และเวทีธุรกิจอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน (Industry-Specific Business Fora) เป็นต้น
1.6 ส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เช่น จัดตั้งโครงการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงในเอเซียตะวันออก เป็นต้น
1.7 เสริมสร้างความแข็งแกร่งขอวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น สร้างเครือข่ายศูนย์พัฒนา SME ของอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญและการฝึกอบรม เป็นต้น
1.8 ความร่วมมือกันในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นต้น
1.9 ประสานความร่วมมือด้านต่างๆ ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศและภูมิภาค เช่น WTO APEC และ ASEM ที่ประชุมได้ย้ำถึงความความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคที่จะเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้นที่ประชุมได้หารือในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและภูมิภาคในมุมกว้าง เช่นองค์การการค้าโลกจะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างไรภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีที่นครซีแอตเติ้ลโดยได้ตกลงกันเรื่องวาระการประชุมของการเจรจาการค้ารอบใหม่ ให้เน้นกรอบกว้าง ครอบคลุมถึงประโยชน์ของประเทศสมาชิก WTO อย่างสมดุล และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาด้านการเสริมสมรรถนะ (Capacity Building) ให้ความสำคัญด้านการเข้าสู่ตลาดสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการค้าบริการรวมทั้งการสนับสนุนจีน กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ให้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยเร็ว ตามมติที่ประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10 รวมทั้งหารือเตรียมการประชุมรัฐมนตรี การค้าเอเปคที่นครดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย
ที่ประชุมตกลงให้มีประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งต่อไปในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 32 ในเดือนตุลาคม 2543 ณ จังหวัดเชียงใหม่
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรี การค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (AEM-MITI)
ความคืบหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น (AMEICC -Joint Action Plan) โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) จะเน้นการพัฒนาสถาบันฝึกอบรมอาเซียนให้เข้มแข็ง การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะเน้นให้ความร่วมมือการวางแผนอุตสาหกรรม SME ของอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาพื้นที่ตะวันตก-ตะวันออก (WEC) โดยญี่ปุ่นเน้นให้ความช่วยเหลืออาเซียนในด้าน Soft Infrastructure และอาเซียนย้ำให้ญี่ปุ่นเร่งรัดการดำเนินการโครงการตามข้อเสนอของอาเซียนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ ความคืบหน้าการดำเนินโครงการของอาเซียนเช่น FTA, AIA, และ e-ASEAN รวมทั้งแนวทางเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาการค้ารอบใหม่ เช่น การประชุมกลุ่ม QUAD และการประชุมกลุ่ม G7 ที่เกาะโอกินาวา
การหารือกับนาย Vu Khoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 2 กระทรวงพาณิชย์ สรุปผลการหารือที่สำคัญ ดังนี้
ฝ่ายเวียดนามกล่าวขอบคุณฝ่ายไทยให้การสนับสนุนเวียดนามในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO) และแสดงความชื่นชมต่อความสัมพันธ์ทางด้านการค้าที่ดีตลอดมา ถึงแม้ว่าปริมาณการค้าสองฝ่ายในปี 2542 ที่ผ่านมา มีมูลค่าลดลงเนื่องจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งขอให้ไทยสนับสนุนภาคเอกชนของไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามให้มากขึ้น
ฝ่ายไทยมีความปรารถนาที่จะให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันส่งเสริมให้ปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศขยายตัวมากขึ้น โดยคณะอนุกรรมการด้านการค้าไทย-เวียดนาม ซึ่งเป็นเวทีการประชุมเจรจาการค้าสองฝ่ายจะเป็นคณะกรรมการที่ร่วมมือกันแสวงหาแนวทางความร่วมมือด้านใหม่ และช่วยกันพิจารณาลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า เพื่อให้ปริมาณการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ฝ่ายไทยเสนอให้มีความร่วมมือทางด้านข้าวระหว่างสองประเทศ เพื่อติดตามดูและการค้าข้าวในตลาดโลก ความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลต่อทั้งสองประเทศในการควบคุมปริมาณและกำหนดทิศทางราคาข้าวในตลาดโลก เมื่อราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบประสานงานกับฝ่ายเวียดนามและจัดตั้งคณะทำงานด้านข้าวต่อไป
ฝ่ายไทยสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียน การจัดทำ East-West Corridor เป็นประโยชน์มาก แต่ขณะเดียวกัน เส้นทางอีกเส้นหนึ่งจากอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ผ่านไปยังกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา และไปสิ้นสุดที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ ของประเทศเวียดนาม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งของทั้งสองประเทศมากและควรให้ความสำคัญเช่นกัน--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ