วิทยาศาสตร์ฯ มธ. รุกปั้นนักวิทย์ยุคใหม่ ชูกลยุทธ์ “SCI+BUSINESS“ รับเศรษฐกิจใหม่

ข่าวทั่วไป Friday May 27, 2016 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดแผนการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมิติใหม่ ภายใต้แนวคิด SCI+BUSINESS หรือ "นักวิทย์คิดประกอบการ" โดยมุ่งสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการประกอบการอย่างชาญฉลาด เป็นบัณฑิตศตวรรษใหม่ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลักดันผลงานเข้าสู่วงการธุรกิจได้ โดยไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่เพียงแต่ในห้องทดลองเท่านั้น ผ่านการผสมผสานหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็งกับองค์ความรู้ด้านพาณิชยศาสตร์และการบริหารธุรกิจอันสะท้อนจากภาพลักษณ์และศักยภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดสอนใน 10 สาขาวิชา และ 3 หลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ และหลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ (CDT) เป็นต้น ตลอดจนยังมุ่งพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์แก่สังคมจำนวนมาก อาทิ แผ่นยางทำความสะอาดน้ำมันแบบใช้ซ้ำ ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยเป็นศาสตร์พื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลาสติก อุตสาหกรรมการเกษตร ฯลฯ แต่สถิติจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ระบุว่า พบว่าแรงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยยังคงขาดแคลนเรื่อยมา โดยในแต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เพียง 8 คน ต่อประชากร 10,000 คน โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญที่สามารถคิดค้น วิจัยพัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการก้าวทันโลกสมัยใหม่ อีกทั้งนโยบายของภาครัฐในการมุ่งขยายด้านอุตสาหกรรมและภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น ทำให้บุคลากรดังกล่าวจึงยิ่งเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดรับกับความต้องการของตลาด และสถานการณ์โลกปัจจุบัน ได้คิดค้น และเปิดตัวการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติใหม่ ภายใต้แนวคิด SCI+BUSINESS หรือ "นักวิทย์คิดประกอบการ" โดยมุ่งสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถในการประกอบการอย่างชาญฉลาด เป็นบัณฑิตศตวรรษใหม่ที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลักดันผลงานเข้าสู่วงการธุรกิจได้ ไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่เพียงแต่ในห้องทดลองเท่านั้น ผ่านการผสมผสานหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็งกับองค์ความรู้ด้านพาณิชยศาสตร์และการบริหารธุรกิจอันสะท้อนจากภาพลักษณ์และศักยภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดสอนใน 10 สาขาวิชา และ 3 หลักสูตรนานาชาติ ได้แก่ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร ภาควิชาเคมี ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ หลักสูตรเทคโนโลยีดิจิทัลแนวสร้างสรรค์ (CDT) และ หลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (IDD) และหลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) โดยที่ผ่านมา สามารถผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 8,000 คน นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในต่างประเทศที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา (Universitas Gadjah Mada) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลงานการวิจัยที่ได้รับพัฒนาและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์แล้วจำนวนมาก อาทิ "แผ่นยางทำความสะอาดน้ำมันแบบใช้ซ้ำ" นวัตกรรมดูดซับน้ำมันที่มีความสามารถในการดูดซับสูงถึง 20 เท่าของน้ำหนักวัสดุดูดซับ และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 30 ครั้ง โดยไม่เสื่อมสภาพ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย ผศ.ดร.สุวดี ก้องพารากุล จากภาควิชาเคมี "ปลาส้มอบแผ่นปรุงรสสำเร็จรูป" ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากปลาส้ม อุดมไปด้วยโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ สามารถพกพาได้สะดวกและรับประทานได้ง่าย คิดค้นและพัฒนาโดย ดร.สุธีรา วัฒนกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร "บรรจุภัณฑ์แบบ Active Packaging สำหรับลำไยสดไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เพื่อการส่งออก" เทคโนโลยีการเก็บรักษาคุณภาพความสดลำไยนาน 4 เดือน ผลงานการคิดต้นและออกแบบโดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมและผลงานการวิจัยที่มีความโดดเด่นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณชนในแง่มุมต่างๆ อาทิ "ระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพ" นวัตกรรมผลิตปุ๋ยชีวภาพที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและระยะเวลา คิดค้นและพัฒนาโดย ผศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพและ "เครื่องพยากรณ์การเกิดโรคของต้นข้าวในนาข้าว" เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝน เพื่อนำมาวิเคราะห์การเกิดโรคที่สำคัญของข้าว โดย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ดีนวัตกรรมดังกล่าว ล้วนได้รับรางวัลการันตีคุณภาพในเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติทั้งสิ้น รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือเว็บไซต์http://www.sci.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ