แพทย์ชี้ ผู้หญิงวัยทำงานมีสิทธิ์เป็นโรคไอบีเอสหรือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวนมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า

ข่าวทั่วไป Tuesday March 6, 2001 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค (PR NETWORK)
สยามอินเตอร์คอนติเนนตัล - รศ.นพ. อุดม คชินทร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ประธานฝ่าย Press and Media การจัดการประชุมทางวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหาร (World Congress of Gastroenterology 2002) จัดโดยองค์กรแพทย์เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารโลก ซึ่งคาดว่าจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาโรคทางเดินอาหาร แพทย์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง พยาบาล และอื่นๆอาทิ บริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยาเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 12,000-15,000 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์- 1 มีนาคม 2545 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติกรุงเทพ (ไบแทค )
โดย รศ.นพ. อุดม เปิดเผยถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่ผู้หญิงในวัยทำงาน มีความเสี่ยงในการเป็นสูงกว่าผู้ชายในวัยเดียวกันถึง 3 เท่า นั่นคือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน หรือ โรคไอบีเอส ซึ่งเป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่นส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆ ที่จะมีผลทำให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมทัยรอยด์เป็นพิษ หรือ เบาหวานเป็นต้นโรคลำไส้ทำงานแปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรังอาจเป็นปีๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ และสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ในบางรายอาการท้องเสียบ่อยจะรบกวนการทำงานเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่อยากออกไปทำธุระ หรือเดินทางออกนอกบ้านหรือที่ทำงาน
รศ.นพ. อุดม เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจุบันถ้าศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังแล้วมาพบแพทย์จะพบว่าเป็นโรคไอบีเอส ถึงร้อยละ 10-30 จากตัวเลขดังกล่าวในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยไอบีเอส ประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ซึ่งอาจจะเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะว่าในรายที่อาการไม่มากอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคนี้ โดยทั่วไปพบโรคนี้ได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน อายุประมาณ 30 -45 ปี มากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1
แม้ว่าโรคไอบีเอส จะเป็นโรคที่พบบ่อย และมีการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างมากมานานแล้วก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จึงยังไม่มียาที่ดีหรือยาเฉพาะโรคนี้ที่จะกำจัดสาเหตุของโรคไอบีเอสได้ ซึ่งอันนี้เป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมผู้ป่วยจึงเป็นเรื้อรัง หรือเป็นๆหายๆ
จากหลักฐานที่สำคัญที่มีอยู่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่ง 2 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่
1 การบีบตัวของลำไส้หรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ทำงานผิดปกติไป นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
2 ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่นหลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย เป็นต้น นอกจากอาหาร เช่นการรับประทานอาหารรสจัดแล้ว ตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญคือความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนหนุนเสริมภาวะดังกล่าว
เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการหลังมื้ออาหารหรือเมื่อเครียด ซึ่งมีการศึกษาว่ามีการยืนยันในเรื่องดังกล่าว ปกติการกินอาหารจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการกระตุ้นให้มีการบีบตัวของลำไส้เร็วขึ้นและแรงขึ้น จนมีอาการปวดท้องเกร็งและมีอาการท้องเสียเกิดขึ้น นอกจากนี้ส่วนประกอบของอาหารได้แก่ไขมัน ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์หรือพืชจะเป็นตัวกระตุ้นที่รุนแรงที่สุดของลําไส้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด หนังเป็ด, หนังไก่, นม, ครีม, เนย, น้ำมันพืช, อะโวคาโด
อาหารที่มีไฟเบอร์ จะช่วยลดอาการของไอบีเอส โดยการบีบตัวหรือการเกร็งตัวของลำไส้ลดลง นอกจากนี้ไฟเบอร์ยังช่วยดูดน้ำไว้ในตัวอุจจาระ ทำให้อุจจาระไม่แข็งและถ่ายได้ง่ายขึ้น อาหารที่มีไฟเบอร์มาก จะทำให้มีท้องอืด และมีแก๊ซในท้องได้ แต่จะเป็นเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ต่อไปร่างการจะปรับตัวได้เอง
การกินอาหารควรกินแต่น้อย แต่กินให้บ่อยขึ้น ไม่ควรกินจนอิ่มมาก เพราะว่าจะกระตุ้นให้มีอาการปวดท้องและท้องเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน โดยกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง และน้ำตาลให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ ,ของดอง และยาบางชนิด นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มมากขึ้น จึงควรผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้สบายและพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ
รศ.นพ. อุดม เปิดเผยต่อไปว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคท้องเสียเรื้อรัง (ไอบีเอส ) และอะไรคืออาการของโรคไอบีเอส"ในคนปกติการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมาก บางคนถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนถ่ายอุจจาระเป็นบางวัน โดยทั่วไปถือว่าการถ่ายอุจจาระที่ปกติคือจำนวนไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระที่ปกติจะต้องเป็นก้อนแต่ต้องไม่แข็งเป็นลูกกระสุน หรือเหลวมากเป็นน้ำ ต้องไม่มีเลือดปน และไม่มีอาการปวดเกร็งท้องร่วมด้วย
อาการสำคัญของผู้ป่วยไอบีเอส คือปวดท้อง ส่วนใหญ่มักปวดที่ท้องน้อย ลักษณะจะเป็นปวดเกร็ง อาการปวดจะดีขึ้นหลังจากถ่ายอุจจาระ พร้อมๆ กับปวดท้องผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจจะเป็นท้องเสียหรือท้องผูกก็ได้ หรือเป็นท้องผูกสลับกับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระลำบากขึ้น หรืออาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันทีกลั้นไม่อยู่ ผู้ป่วยอาจอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งไปถ่ายอุจจาระมา มีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด จะถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีท้องอืดมีลมมากในท้อง เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการเหล่านี้เป็นๆหายๆ รวมเวลาแล้วมักเป็นนานเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักมีประวัติเป็นมาหลายปี ถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลดลง โดยในคนปกติที่ไม่ได้ลดน้ำหนักเป็นพิเศษหากน้ำหนักลดลงมากกว่า 10 %ของน้ำหนักตัวภายใน 3 เดือน ซีดลง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องมากตลอดเวลา โดยมีอาการช่วงหลังเที่ยงคืน อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส"
โรคไอบีเอสจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกแยะโรคอื่นๆแล้ว หรือหาโรคอื่นที่จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุของโรคไม่ได้ โดยแพทย์ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตลอดจนมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระเป็นต้น ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 หรือ 50 ปี จะได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งผลการตรวจร่างกายและการการสืบค้นต่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ในปัจจุบันโรคไอบีเอสเป็นโรคที่ยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน หรือ ได้ผล 100 เปอร์เซนต์ แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการ เช่น ให้ยาระบายในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่น หรือให้ยาแก้ท้องเสียถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ให้ยาลดอาการเกร็งตัวของลำไส้เพื่อช่วยเรื่องปวดท้อง ดังนั้นผลการรักษาจึงยังไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยจึงมีอาการเป็นๆหายๆ ไม่หายขาด แต่ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมียาตัวใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดท้องและท้องเสียของผู้ป่วยได้ดีขึ้น โดยออกฤทธิ์ตรงกับพยาธิกำเนิดซึ่งแพทย์ได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทยยาตัวนี้กำลังอยู่ระหว่างการรอผลการวิจัย ว่ามีผลดี และไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย จึงยังไม่ได้ใช้กับผู้ป่วยในทันทีหากแต่ต้องรอผลการวิจัยก่อน
เนื่องจากโรคไอบีเอสมักมีแนวโน้มจะกลับมามีอาการอีกเมื่อได้รับการรักษาให้ดีขึ้นแล้วการปรับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนดังกล่าวแล้วควรทำไปตลอด ซึ่งนอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่และได้ไม่ต้องกินยามากอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
พีอาร์ เน็ทเวิร์ค (PR NETWORK)
เกษราภรณ์ อึ่งสกุล (01) 344-9149,
นัดดา ขัตวงษ์
โทร/ โทรสาร 611-7611 /611 -6351--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ