สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 6-10 มิ.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 13-17 มิ.ย. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 51.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์ก เพิ่มขึ้น 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0. 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · การก่อการร้ายของกลุ่ม Niger Delta Avengers (NDA) ในไนจีเรียไม่มีแนวโน้มยุติ จากข่าวอดีตสมาชิกกลุ่มMEND ที่เคยต่อต้านรัฐบาลเมื่อ 5 ปีก่อน เข้าร่วมกับกองกำลังของ NDA ล่าสุดรัฐมนตรีสารสนเทศของไนจีเรีย นาย Lai Mohammed กล่าวว่ารัฐบาลได้ลดจำนวนทหารในพื้นที่เพื่อลดความตึงเครียด และเรียกร้องให้กลุ่ม NDAออกมาเจรจากับรัฐบาล ทว่ากลุ่มกองโจรไม่ตอบสนองข้อเสนอแต่กลับข่มขู่ยกระดับการโจมตี ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงจากช่วงต้นปีที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มี.ค. 59 มาอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 532.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะลดลงที่ 2.7 ล้านบาร์เรล · กรมศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือน พ.ค. 59อยู่ที่ระดับ 7.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 38.7% ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของจีนในครึ่งหลังของปีนี้ยังแข็งแกร่งจากการนำเข้าน้ำมันดิบของโรงกลั่นอิสสระ (Teapot Refineries) และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มิ.ย. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1,024 สัญญา มาอยู่ที่ 255,533 สัญญา · Reuters คาดปีนี้จีนจะนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 70-90 ล้านบาร์เรล เพื่อเก็บในคลัง Strategic Petroleum Reserve (SPR) จากราคาน้ำมันที่ลดลง ทั้งนี้การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนข้างต้นเป็นปัจจัยหนุนค่าขนส่งของเรือบรรทุกน้ำมันดิบชนิด VLCC ขนาด 2 ล้านบาร์เรล · EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2559 จะลดลงจากปีก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2560 จะลดลงจากปีก่อนอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2559 จะขยายตัวขึ้นจากปีก่อน220,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นการปรับประมาณการจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 140,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Baker Huges Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 3 Rig มาอยู่ที่ 328 Rig แสดงถึงความยืดหยุ่นของการผลิตน้ำมันดิบ Shale ในสหรัฐฯ ที่มีอยู่สูง · ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดากล่าวว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในรัฐ Alberta ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Oil Sands สำคัญของประเทศต้องหยุดดำเนินการส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของแคนาดาลดลงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ลดลงจากไตรมาส 1/2559 ที่เติบโต 2.4 % ต่อปีมาอยู่ที่ระดับ 1.25% ต่อปี ในไตรมาส 2/2559 พร้อมระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศกำลังกลับสู่สภาพปกติ · ซาอุดีอาระเบียยังคงเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงที่ 12.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มกำลังการกลั่นจาก 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้รัฐบาลเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่รายได้จากการจำหน่ายน้ำมันภายในปี พ.ศ. 2563 ตามแผนNational Transformation Plan (NTP) ที่รวมถึงการลดการสนับสนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ · World Bank ปรับลดประมาณการณ์ GDP โลกของปี พ.ศ. 2559 ลงมาอยู่ที่ 2.4% ต่อปี จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.9% ต่อปี เมื่อเดือน ม.ค. 59 เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิกฤติการณ์ราคาตกต่ำ และอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วไม่กระเตื้องขึ้น รวมถึงการค้าและการลงทุนทั่วโลกซบเซา แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และนักลงทุนขายเพื่อทำกำไร อีกทั้งผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 ทั้งนี้นักวิเคราะห์เห็นว่าระดับราคาน้ำมันดิบที่ 45-50 USD/BBL จะกระตุ้นให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ Frack หลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้ว (Drilled but Uncompleted หรือ DUC ) เพิ่มปริมาณการผลิต อาทิ Continental Resources Ltd. อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์เห็นว่าผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ จะเพิ่มจำนวนแท่นผลิตน้ำมันในจำนวนจำกัด เพราะต้องประเมินสภาวะตลาดน้ำมันอย่างรอบคอบมากขึ้นก่อนตัดสินใจเพิ่มแท่นผลิตน้ำมันซึ่งหากมากเกินไปจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง อีกทั้งงบประมาณลงทุนปีนี้ลดลงจากปี พ.ศ. 2558 ราว 50% อาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตน้ำมันตัดสินใจเพิ่มจำนวนแท่นผลิตน้ำมันได้ยากกว่าการลด นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียประกาศส่งมอบน้ำมันดิบแบบเทอมให้ลูกค้าในเอเชียกำหนดส่งมอบเดือน ก.ค. 59 เต็มตามปริมาณสัญญา และสถานการณ์การประท้วงของสหภาพแรงงาน CGT union ของฝรั่งเศสเริ่มคลี่คลาย ล่าสุดโรงกลั่น Donges (กำลังการกลั่น 220,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Feyzin (117,000 บาร์เรลต่อวัน)ของบริษัท Total เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มกลั่นน้ำมันตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งระบบกระจายน้ำมันสู่ผู้บริโภคโดยรวมดีขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคคาดว่าสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brentจะเคลื่อนไหวในกรอบ 48.50 – 52.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 47.50-51.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 45.00-49.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินลดลงจาก Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียไม่ลดอัตราเดินเครื่อง แม้ค่าการกลั่น น้ำมันเบนซินไม่สูงนัก เนื่องจากค่าการกลั่น Middle Distillates ยังแข็งแกร่ง และโรงกลั่นที่เพิ่งกลับมาดำเนินการหลังจากหยุดซ่อมบำรุง เร่งผลิตเพื่อสร้างรายได้ชดเชยช่วงที่หยุดไป ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.50 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดการณ์ตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียจะสมดุลขึ้นในช่วงหน้าร้อนนี้ หลังจากปริมาณ Arbitrage จากยุโรปและสหรัฐฯ ลดลง และ IES รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.08 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13 ล้านบาร์เรล คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.00-62.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมันในญี่ปุ่นมีแผนชะลอดำเนินการและหยุดเพื่อซ่อมบำรุงสูงสุด (Peak) ในช่วงกลาง มิ.ย. 59 ทำให้ ปริมาณการกลั่นลดลง 596,600 บาร์เรลต่อวัน หรือ16 % ของกำลังการกลั่นทั้งประเทศ และ ผู้ค้าคาดตลาดน้ำมันดีเซลของเอเชียในเดือน มิ.ย. 59 ยังแข็งแกร่ง เพราะสภาวะ อากาศร้อนจัดทำให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับทำความเย็นของอินเดียเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโรงกลั่น MRPL (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ของอินเดียมีแผนกลับมาดำเนินการโรงกลั่นเต็มกำลังกลางเดือน มิ.ย. 59 รวมถึงหน่วย CDU Phase 3 กำลังการกลั่น 60,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ปิดดำเนินการเดือนที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนน้ำ อีกทั้ง Reuters รายงานปากีสถานหยุดซื้อน้ำมันดีเซลจากตลาดจร (Spot) ในเดือน มิ.ย. 59จากปริมาณเข้าซื้อกว่า 1.5 ล้านบาร์เรล ในเดือน พ.ค. 59 เพราะคูเวตกลับมาส่งมอบน้ำมันดีเซลตามสัญญาระยะยาว (Term) ได้หลังการประท้วงในคูเวตสิ้นสุดลง ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 610,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 9.08 ล้านบาร์เรล คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.00-61.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ