ปภ. เตือนถ่ายรูปอย่างปลอดภัย...รู้ไว้เลี่ยงอันตราย

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2016 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนประชาชนถ่ายรูปอย่างปลอดภัย โดยศึกษาข้อมูลของสถานที่ที่จะถ่ายรูป เพิ่มความระมัดระวังในการถ่ายรูปบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะที่สูง บนถนน รางรถไฟ ไม่ถ่ายรูปกับสัตว์ป่า และใช้อาวุธประกอบฉาก ไม่ถ่ายรูปขณะขับรถและบริเวณที่เครื่องจักรกำลังทำงาน ไม่ถ่ายรูปด้วยความคึกคะนอง รวมถึงไม่ถ่ายรูปในอิริยาบถที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตนเองและผู้อื่น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การถ่ายรูปเพื่อเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ การถ่ายรูปเซลฟี่เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่หากถ่ายรูปโดยขาดความระมัดระวังหรือถ่ายรูปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนประชาชนถ่ายรูปอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ดังนี้ ศึกษาข้อมูลของสถานที่ที่จะถ่ายรูป โดยศึกษากฎระเบียบของสถานที่ จุดเสี่ยงอันตราย ป้ายเตือน พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพิ่มความระมัดระวังในการถ่ายรูปบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ บริเวณริมหน้าผา ชะง่อนหิน เพราะสภาพพื้นอาจเปียกลื่นหรือมีตะไคร่น้ำเกาะ โดยเฉพาะบริเวณพงหญ้ารก ทำให้ลื่นล้มหรือพลัดตกจากหน้าผา ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ไม่ถ่ายรูปบริเวณจุดที่เสี่ยงต่อการพลัดตก อาทิ จุดชมวิวที่ไม่มีไม้กั้น ริมหน้าผา ชะง่อนหิน ระเบียง หลังคา ดาดฟ้าตึกสูง ต้นไม้ ไม่ถ่ายรูปบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด อาทิ เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดได้ ไม่ถ่ายรูปบริเวณจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อาทิ บนถนน สี่แยกไฟแดง เพราะเสี่ยงต่อการถูกรถชน รางรถไฟ เพราะเสี่ยงต่อการถูกรถไฟชน เรือโดยสาร ริมตลิ่ง ขอบสระว่ายน้ำ เพราะอาจพลัดตกน้ำ ไม่ถ่ายรูปด้วยความคึกคะนองเพื่อแสดงความกล้าหาญอาทิ ถ่ายรูปกับสัตว์ป่า สัตว์มีพิษ ถ่ายรูปใกล้กรงสัตว์ ถ่ายรูปนอกรถ ในสวนสัตว์เปิด เพราะอาจถูกสัตว์ทำร้ายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไม่ถ่ายรูปบริเวณที่แคบ อาทิ ซอกตึก เพราะอาจติดอยู่ในซอกตึกหรือพลัดตกตึก ไหล่เขาที่มีทางเดินแคบ นอกจากเสี่ยงต่อการพลัดตกแล้ว ดินอาจทรุดตัว ทำให้เกิดอันตรายได้ ไม่ถ่ายรูปในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน โดยเฉพาะขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อที่สามารถเหนี่ยวนำไฟฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต ไม่ถ่ายรูปในทะเลที่มีคลื่นสูง เพราะอาจถูกคลื่นซัดจมน้ำเสียชีวิต ไม่ถ่ายรูปขณะขับรถ เพราะนอกจากจะทำให้เสียสมาธิแล้ว ยังต้องละสายตาจากเส้นทาง รวมถึงต้องปล่อยมือจากพวงมาลัย จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ไม่ถ่ายรูปบริเวณที่เครื่องจักรกำลังทำงานหรือสถานที่ก่อสร้าง เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้างหล่นทับ ไม่ถ่ายรูปบริเวณที่ไม่มั่นคงแข็งแรง อาทิ นั่งร้านอาคารที่กำลังก่อสร้าง อาคารที่มีอายุการใช้งานนาน อาคารร้าง ราวบันไดหรือป้ายโฆษณาที่อยู่ในสภาพผุพัง ต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตาย เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกและถูกล้มทับไม่ถ่ายรูปขณะเล่นเครื่องเล่น อาทิ รถไฟเหาะตีลังกา เฮอริเคน เพราะต้องปล่อยมือที่ยึดจับเครื่องเล่น ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกไม่ถ่ายรูปโดยใช้อาวุธประกอบฉาก อาทิ ปืน มีด เพราะความพลั้งเผลอ อาจทำให้ได้รับอันตรายจากอาวุธได้ ท้ายนี้ ฝากเตือนประชาชนถ่ายรูปในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ถ่ายรูปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย และไม่ถ่ายรูปในอิริยาบถที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตนเองและผู้อื่น 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ