ศงป.เผยยอดผู้ใช้บริการพุ่งกว่า 9,000 ราย ชี้ปัญหายอดฮิตหาแหล่งเงินทุนและแก้ NPL

ข่าวทั่วไป Thursday April 27, 2000 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--ศงป.
ศงป. เผยผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนครึ่ง ประสบความสำเร็จเกินคาด ชี้ปัญหายอดฮิตผู้ประกอบการ SMEs ปรึกษาแหล่งเงินทุนอันดับหนึ่ง รองลงมาหวังแก้ปัญหา NPL ด้านนโยบาย มุ่งพัฒนาการบริการให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานในการให้คำปรึกษา พร้อมรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจริงนำเสนอภาครัฐต่อไป
นายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการนโยบาย ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ ศงป. ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าและประสบผลสำเร็จเกินคาด เนื่องจากมีกลุ่มคนที่ประสบปัญหาทางการเงินเดินเข้ามาปรึกษา ศงป. เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าธุรกิจ SMEs ของไทยยังคงมีปัญหาอยู่อีกหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน ซึ่งปัจจุบันภาครัฐ และภาคเอกชนต่างร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเงิน การตลาด การผลิต และการส่งออก ซึ่งคาดว่าในอนาคตปัญหา เหล่านี้จะลดน้อยลงไป สำหรับนโยบายการดำเนินงานของ ศงป. ในปี 2543 ยังคงมุ่งเน้นการบริการแก่ธุรกิจ SMEs และประชาชนทั่วไปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และพยายามรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำเสนอในระดับนโยบายต่อไป
ด้าน นายเศรษฐชัย ศรีวีระกุล กรรมการผู้อำนวยการ ศงป. กล่าวถึงผลการดำเนินงานตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2543 ว่า มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 9,301 ราย จาก 25 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่า 41,890 ล้านบาท ซึ่งสามารถจบการให้ปรึกษา 5,080 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินงานต่อ 4,221 ราย โดยแยกประเภทตามการให้คำปรึกษา ปรากฎว่าผู้ใช้บริการ ขอคำปรึกษาเรื่องแหล่งเงินทุน เป็นอันดับหนึ่ง รวม 3,826 ราย อันดับสอง คือ ปัญหาหนี้ NPL รวม 2,902 ราย อันดับสาม คือ เรื่องธุรกิจ รวม 1,333 ราย และอันดับสุดท้าย คือ เรื่องอื่น ๆ รวม 1,240 ราย
สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานในปี 2543 ของ ศงป. กำหนดไว้ 3 ประการหลัก คือ ประการแรก กำหนดเป้าหมายให้ SMEs และประชาชนมาใช้บริการปรึกษาด้านการเงินไม่ต่ำกว่า 2,600 รายต่อเดือน รวม 25 ศูนย์ฯ ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประการที่สอง มุ่งพัฒนาคุณภาพการให้คำปรึกษา โดยนำข้อมูลจากยอดผู้ใช้บริการมาทำการวิจัย และวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นมาตรฐาน ประการที่สาม นำผลการวิเคราะห์ปัญหา SMEs นำเสนอภาครัฐ เพื่อออกมาตรการแก้ไขปัญหาตามความเหมาะสม
กรรมการผู้อำนวยการ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ประชาชนรับรู้บทบาท ศงป. มากขึ้นว่าเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา และแนะนำด้านการเงิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่ง ศงป. รู้สึกภาคภูมิใจใน บทบาทหน้าที่ที่สามารถคลี่คลายปัญหาให้กับผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนทั่วไปที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงินไปได้บ้าง อย่างน้อยก็ชี้ทางสว่างให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นได้มีทางออก และสามารถแก้ปัญหาทางธุรกิจ หรือปัญหาส่วนตัวได้ ทั้งนี้ ศงป. พร้อมที่จะพัฒนาการให้บริการให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับประชาชนทั่วประเทศต่อไป--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ