“อำนาจเจริญ” จัดมหกรรมโชว์นวัตกรรมปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ ผสานพลังเครือข่าย “กศจ.” ต่อยอดความสำเร็จ 5 กิจกรรมนำร่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday July 20, 2016 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ไอแอมพีอาร์ เพราะ "ทุน" ของมนุษย์ที่สำคัญที่สุดคือ "การศึกษา" ที่จะทำให้มนุษย์ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปสู่การเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นการส่งเสริมและออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายให้สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพของพื้นที่ นอกจากจะเป็นการพัฒนาคนบนฐานของทุนและทรัพยากรท้องถิ่นที่ดีที่สุดแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นในทุกมิติ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ จึงร่วมกับ สภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) จัด "มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ" โชว์นวัตกรรมและผลลัพธ์ความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ "โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน" (Area-Based Education) พร้อมเปิดเวทีเสวนา "ชาวอำนาจเจริญร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาการศึกษาให้ก้าวไกลสู่สากล" เพื่อระดมพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัด ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเป็น "เมืองธรรมเกษตร" นายยิ่งยศ ธนะจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวในเวทีเสวนาว่าการพัฒนาคนเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆ เรื่อง แต่ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่สามารถสร้างคนมารองรับการพัฒนาต่างๆ ได้โดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่ แต่ในวันนี้เรามีสภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ และมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด หลายองค์กรภาคีเครือข่ายได้เชื่อมโยงกันทำงานแล้ว เวทีในวันนี้จึงเป็นการแสดงพลังว่าชาวอำนาจเจริญจะร่วมกันขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาจังหวัดและการศึกษาไปสู่เป้าหมายคือการเป็นเมืองธรรมเกษตร เพื่อให้คนอำนาจเจริญมีคุณภาพชีวิตทีดีและมีความสุขที่ยั่งยืน "การขับเคลื่อนการเรียนรู้หรือปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ในขณะนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างขององค์กรที่ดูแลด้านการศึกษาที่ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น กศจ. ได้เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะเข้าเสริมแรงพัฒนาการศึกษา แล้วก็ยังสามารถนำพลังต่างๆ จากองค์กรอื่นนอกเหนือจากการศึกษาเข้ามาเสริมการทำงานได้ในหลายมิติ ซึ่งในอดีตเราไม่สามารถที่จะทำอย่างนี้ได้ตรงนี้จึงเป็นแรงหนุนเสริมที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาของจังหวัดอำนาจเจริญให้ดียิ่งขึ้น" นายนรงฤทธิ์ จันทรเนตร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดอำนาจเจริญ เปิดเผยว่าอำนาจเจริญได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจากการแสวงหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของคนอำนาจเจริญที่ผ่านมานั้นได้ก่อเกิดผลงานเชิงประจักษ์ 4 ด้านขึ้นคือ 1) เกิดกลไกเครือข่ายความร่วมมือปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จนพัฒนาเป็นสภาการศึกษาจังหวัด 2)เกิดคณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา 3) เกิดร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของจังหวัด และ 4) เกิดนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในตำบลนำร่องต่างๆ "แม้โครงการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่การขับเคลื่อนงานของอำนาจเจริญจะยังคงเดินหน้าต่อไปโดยสภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ และพลังของภาคประชาชนที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ๆ จะมาร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของคนอำนาจเจริญ ด้วยความภาคภูมิใจของชาวอำนาจเจริญทุกคนต่อไป เพราะในวันนี้เรื่องของการจัดการศึกษาเราจะปล่อยให้กระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ทำเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ เราจะต้องร่วมไม้ร่วมมือกันทำทุกภาคส่วนในสังคมตั้งแต่ผู้ปกครอง และเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน" นอกจากนี้ภายในงานได้มีการนำเสนอผลงาน นวัตกรรม และความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย 1.พ่อแม่ครูปฐมวัยร่วมใจพัฒนา 2.ผู้นำก้าวหน้าพัฒนาท้องถิ่น 3.สัมมาชีพสร้างคนสร้างงาน 4.การสื่อสารสู่สากล และ 5.ยุวชนวิจัยใส่ใจท้องถิ่น ใน 5 พื้นที่นำร่อง มานำเสนอเพื่อให้เกิดการบูรณาองค์ความรู้ในการทำงาน และร่วมกันต่อยอดขยายผลความสำเร็จของกิจกรรมต่างๆ ออกไปทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัด โดยกิจกรรม "พ่อแม่ครูปฐมวัยร่วมใจสร้างเด็กปฐมวัยให้เป็นอัจฉริยะ" ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมที่มีเครือข่ายด้านสาธารณสุขอย่าง "โรงพยาบาลพนา" เข้ามาร่วมกันทำงานจนเกิดเป็นนวัตกรรมมีชื่อว่า "แม่ฮัก" ฮักแพงเบิ่งแยกนำกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กได้รับการพัฒนาและเติบโตขึ้นเต็มศักยภาพ ด้วยการการดูแลเด็กตั้งแต่ในครรภ์และติดตามสนับสนุนจนกระทั่งส่งต่อเข้าศูนย์เด็กเล็ก นพ.ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนา กล่าวว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ปีนั้นเป็นช่วงอายุที่มีการพัฒนาสูง ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงลูกที่ดีและถูกต้องจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เต็มศักยภาพ โดยกิจกรรมนี้จะสร้างให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเด็กทุกคนเป็นของชุมชนที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล "เรามีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลเด็กปฐมวัยที่เรียกว่าแม่ฮักคอยช่วยดูแล ข้อมูลและสถิติในการทำงานพบว่าเด็กในตำบลพนาที่เข้าโครงการมีพัฒนาการที่สูงขึ้นเกินกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐานในทุกๆ ด้านถึงร้อยละ 59.85 ซึ่งเป็นโมเดลในการพัฒนาเด็กที่เราจะขยายผลออกไปในทุกพื้นที่ของจังหวัดต่อไป" "การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่นั้นเป็นการทำงานที่เชื่อมโยงจาก สสค. ลงมายังพื้นที่คือจังหวัดอำนาจเจริญ แล้วก็มาสู่กระบวนการส่งต่อให้ กศจ. ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาการทำงานเป็นทีมและมีการเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากนี้ กศจ. กับสภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญจะประสานความร่วมมือกัน เพื่อกำหนดทิศทางและแผนการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดที่มีความชัดเจนและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น วันนี้เราจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน เอาความคาดหวังและความต้องการของคนในพื้นที่เป็นเป้าหมายในการทำงานภายใต้แนวคิดที่เรียกว่ารวมใจร้อยมาเป็นดวงเดียว เอาแนวคิดกลมเกลียวเป็นเทียนส่อง เอาพลังที่ใฝ่ฝันเป็นครรลองเพื่อการพัฒนาทั้งผองที่ต้องการ จึงจะทำให้เป้าหมายของคนอำนาจเจริญทุกคนประสบความสำเร็จได้" นายสุพรรณ สืบสิงห์ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวสรุป
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ