ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้มอันดับเครดิต “เอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง” ที่ “BBB/Stable”

ข่าวทั่วไป Friday February 4, 2005 08:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอ็น.ซี. เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ของบริษัทในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยระดับปานกลางถึงระดับล่าง ตลอดจนตราสัญลักษณ์ “บ้านฟ้า” และโครงสร้างทางการเงินที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนด้วยความเสี่ยงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันสูง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ลดลง และความผันผวนที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะยังคงมีความสามารถในการดำรงผลการดำเนินงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ในระยะปานกลาง แม้ว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับหนี้สินต่อทุนในระดับ 1 เท่าได้ในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอ็น. ซี. เฮ้าส์ซิ่ง เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งก่อตั้งในปี 2537 โดยนาย นำชัย ตันฑเทอดธรรม โดยตั้งแต่การก่อตั้ง ตระกูลตันฑเทอดธรรม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกำหนดทิศทางธุรกิจของบริษัทมาโดยตลอด ณ เดือนกันยายน 2547 ตระกูลตันฑเทอดธรรม มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท 7.9% โดยมี นายสมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม (ซึ่งเป็นบุตรของนายนำชัย) ดำรงตำแหน่งทั้งกรรมการผู้จัดการและเป็นผู้กำหนดนโยบาย ทิศทาง และกลยุทธ์ของบริษัท บริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้ตราสัญลักษณ์ “บ้านฟ้า” ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ ตราสัญลักษณ์ “บ้านฟ้า” เป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยในบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ ณ เดือนกันยายน 2547 บริษัทมีการพัฒนาโครงการบ้านที่อยู่อาศัย 27 แห่ง และส่งมอบบ้านแก่ลูกค้ามากกว่า 6,800 หลังในระยะเวลา 10 ปี โดยมีบ้านเดี่ยวเป็นสินค้าหลัก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการของบริษัทมีทั้งสิ้น 14 โครงการ จำนวน 3,090 หลัง มูลค่า 9,279 ล้านบาท ในปี 2547 บริษัทเปิดโครงการใหม่ 3 แห่งได้แก่ บ้านฟ้าปิยรมย์เฟส 7 (276 หลัง) บ้านฟ้ากรีนพาร์ค รอยัล ธนบุรีรมย์ (239 หลัง) และบ้านฟ้าริมหาด (93 หลัง) บริษัทวางแผนจะเปิดโครงการบ้านเดี่ยวอีก 2 โครงการคือ บ้านฟ้าปิยรมย์เฟส 8 (368 หลัง) และโครงการ บ้านฟ้าปิยรมย์เฟส 9 (190 หลัง) ในครึ่งแรกของ ปี 2548 ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “บ้านฟ้า” โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัท โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 893 ไร่ ตั้งในบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ และมีพื้นที่เหลืออีก 500 ไร่ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก 4-5 ปี บริษัทได้ขยายการพัฒนาโครงการไปยังบริเวณตอนใต้และตะวันตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยที่โครงการหลักของบริษัทยังคงอยู่ในบริเวณตอนเหนือ
บริษัทประสบความสำเร็จในการซื้อสินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินมาพัฒนาโครงการ ราคาบ้านจัดสรรของบริษัทและบริการรับจ้างบริหารชุมชนบ้านจัดสรรหลังปิดการขายสามารถแข่งขันได้ และได้สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทในฐานะผู้นำตลาดบ้านระดับกลางถึงระดับล่างในบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ สินค้าของบริษัททั้งบ้านสร้างก่อนขาย บ้านขายระหว่างสร้าง และบ้านสั่งสร้างช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น บริษัทเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในปี 2540 และได้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในเดือนตุลาคม 2541 โดยมีมูลค่าหนี้ 1,246 ล้านบาทที่ไม่ได้รับการลดหย่อนเงินต้นแต่ได้รับการผ่อนผันระยะการชำระเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับสูงถึง 121.4% ในปี 2543 ต่อมาปรับตัวดีขึ้นตามลำดับเป็น 57.0% ในปี 2546 และ 37.7% เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2547 ผลประกอบการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของบริษัทค่อนข้างน่าพอใจ โดย 9 เดือนแรกของปี 2547 มีรายได้รวม 1,743 ล้านบาท เทียบเท่ากับระดับประมาณ 73% ของรายได้ในปี 2546 อัตราการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ระดับ 12.0% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2547 ลดลงจาก 15.4% ณ เดือนธันวาคม 2546 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรเพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในปี 2544 เป็น 25.3% ในปี 2545 แต่ลดลงที่ 20.3% ในปี 2546 และ 7.3% (ไม่ได้ปรับเต็มปี) สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2547
การแข่งขันในตลาดบ้านจัดสรรในปี 2547-2548 ยังคงรุนแรงจากการที่ผู้ประกอบการหลายรายกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ในขณะเดียวกันกับที่อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความต้องการซื้อบ้านและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการวางเงินดาวน์สำหรับบ้านราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปและความเข้มงวดที่ผู้ประกอบการจะต้องรายงานการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินทำให้ความสามารถในการจ่ายเงินของผู้ซื้อบ้านลดลงและจำกัดอุปทานของที่อยู่อาศัย ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ