นาฬิกาแอร์เมสรุ่นอาร์โซ ติกร์ (Arceau Tigre) ผลิตขึ้นจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือนเท่านั้น

ข่าวทั่วไป Monday August 1, 2016 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ส.ค.--Francom Asia ลา มองทร์ แอร์เมส ขอแนะนำเครื่องบอกเวลาเรือนแรกที่อวดศิลปะการแกะสลักด้วยเทคนิค เอมาอิล องบรองท์ (Email Ombrant) ซึ่งเป็นการลงยาไล่เฉดสีแบบเก่าแก่ และใช้แสงเพื่อเผยให้เห็นลวดลาย 3 มิติบนหน้าปัด โดยแอร์เมสใช้เวลาถึงสองปีเต็มในการพัฒนาศิลปะแขนงนี้ลงสู่ตัวเรือนนาฬิกา ภาพของเจ้าแมวยักษ์ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปัดของเรือนเวลา อาร์โซ ติกร์ นี้ สะท้อนแนวคิด "Nature at full gallop" อันเป็นธีมประจำปี 2016 ของแอร์เมส วาดขึ้นจากภาพที่โรเบิร์ต ดัลเลย์ ศิลปินผู้เคยทำงานกับ แอร์เมสในช่วงทศวรรษปี 1980 ได้รังสรรค์ขึ้น แอร์เมสเลือกใช้เทคนิคเอมาอิล องบรองท์ (Email Ombrant) เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังอันเปี่ยมล้นของสัตว์ตระกูลแมว โดยเป็นเทคนิคศิลปะการลงยาแบบไล่เฉด รวมไปถึงศิลปะการแกะสลักที่มากับการลงยา เทคนิคนี้จะใช้แม่พิมพ์ Lithophane ซึ่งแพร่หลายมากในแถบเมืองลิโมจส์ ของฝรั่งเศส เมื่อนำมาส่องกับแสงจะแสดงภาพสามมิติที่แกะสลักอีกด้านหนึ่งออกมา และลวดลายนี้จะแกะแม่พิมพ์เป็นแบบ Negative กลับด้าน โดยเทเนื้อพอร์ซเลนด้าน (Biscuit Porcelain) ลงไปเพื่อขึ้นรูปงาน ในการทำแม่พิมพ์ ช่างฝีมือจะใช้ความรู้ความความสามารถของเขาจินตนาการความหลากหลายในความหนาของพอร์ซเลน เพื่อทำให้เกิดชั้นสีที่ต้องการ เทคนิคเอมาอิล องบรองท์ ซึ่งปอล เดอ บูร์โกอิง จากทรองเบลย์ ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้ในปี 1841 ก็มีหลักการพื้นฐานเดียวกัน แต่ช่างจะทำลวดลายให้สวยงามด้วยการสร้างเนื้องานแบบนูนที่ต้องการก่อนที่จะค่อย ๆ เคลือบลงยาแบบบาง ๆ โดยในพื้นที่ที่ลึกกว่าบริเวณอื่น จะมีสีเข้มและหนากว่า ในขณะที่พื้นที่นูนซึ่งมีสารเคลือบน้อยกว่า ก็จะมีสีอ่อนกว่า เทคนิคนี้เป็นวิธีการที่แตกต่างไปจากการลงยางานแกะสลักภาพนูนแบบเดิม ๆ พื้นที่ที่ต่ำกว่าและส่วนที่นูนขึ้นมาจะมีสีสันแตกต่างกันตามแสงที่แบบจะสะท้อนออกมาได้ และนี่เป็นเหตุผลที่การแกะสลักแบบเอมาอิล องบรองท์ จะเผยภาพออกมาเมื่อผ่านการลงยาแล้วเท่านั้น เทคนิคเอมาอิล องบรองท์ จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของช่างแกะสลักและช่างลงยา เพื่อให้งานออกมามีสีสันที่สมบูรณ์ที่สุดและเผยให้เห็นถึงความเจิดจรัสของศิลปะในงานแต่ละชิ้น พวกเขาจะต้องพิเคราะห์ลายต้นแบบ รวมถึงดีกรีความโปร่งแสงและลักษณะของชิ้นงาน เพื่อกำหนดหาศูนย์กลางโซนของแสงและเฉดสี ไปด้วยกัน หน้าปัดของเรือนเวลาอาร์โซ ติกร์ รังสรรค์ขึ้นจากทองคำขาวเป็นหลัก และเพื่อให้ได้ระดับของความโปร่งแสงที่ต้องการ ช่างแกะสลักจะทำรูปลักษณ์ของเส้นขนแต่ละเส้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นผิวหนังของเสือ เพื่อรักษาไว้ซึ่งรูปลักษณ์ของภาพต้นแบบ หัวของพยัคฆ์ที่งามสง่าจะดูมีชีวิต เมื่อสาดแสงจากด้านหลังเพื่อให้เกิดความลึก เอมาอิล องบรองท์ จะเล่นกับมุมในการมองภาพ เพื่อเปิดโลกของงานสร้างสรรค์แบบใหม่ ด้วยการปลดปล่อยข้อจำกัดการใช้แสงเงาแบบไล่เฉดอย่างประณีต ตัวเรือนอสมมาตรของอาร์โซถือเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาแอร์เมส ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเชือกผูกโกลนม้าด้านบนลักษณะคล้ายเกือกม้า ลายเส้นที่พลิ้วไหวจากการแกะลายจากทองคำขาวในเวิร์คช้อปของแอร์เมส และด้านหลังที่โปร่งแสง จะทำให้เห็นเนื้องานด้านในของนาฬิกา ในขณะที่สายนาฬิกาจะเน้นให้เห็นถึงความชำนาญในการทำหนังของแอร์เมส ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 12 ชิ้น อาร์โซ ติกร์ ควบคุมการทำงานบอกเวลาด้วยเครื่องกลไกไขลานอัตโนมัติรุ่น H1837 ด้วยเข็มบอกชั่วโมงและนาที แผ่นเพลทของเครื่องกลไกแต่งลายก้นหอยและขดเป็นวง ในขณะที่ลูกตุ้มเหวี่ยงและตัว บาลานซ์วีลแต่งด้วยลายตัวอักษร H อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแอร์เมส
แท็ก ศิลปะ   แมว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ