ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในอาเซียนสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรก

ข่าวยานยนต์ Wednesday May 16, 2001 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--ออโตไทยแลนด์ดอทคอม
ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในอาเซียนสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกผลมาจากยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงในอินโดนิเซียฮอนด้าเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดอาเซียน เป็น 59.1%
บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ของฮอนด้าประจำภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยตัวเลขยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในอาเซียน (ไทย อินโดนิเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์) ว่าการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ในอาเซียน ช่วงไตรมาสแรกของปี 2544 เพิ่มขึ้น 30.2% โดยมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้นจำนวน 630,792 คัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของตลาดในประเทศอินโดนีเซีย ที่เพิ่มสูงขึ้น 86.6% อย่างไรก็ตามในขณะที่การเติบโตของรถจักรยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียสูงขึ้นโดยยอดจำหน่ายรวมในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีจำนวนถึง 310,530คัน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 166,435 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศอื่นๆ เช่น ในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในช่วงไตรมาสแรกกลับมีอัตราการเติบโตที่ช้า (ไม่รวมถึงการเติบโตของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศเวียดนาม ซึ่งไม่ตัวเลขอย่างเป็นทางการที่อ้างอิงได้)
ในไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย มีจำนวนลดลง จากจำนวนทั้งสิ้น 66,475 คัน ในปี 2543 เป็นจำนวน 57,069 คันในปีนี้ หรือลดลง 14.1% สะท้อนให้เห็นถึงการหดตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดรถจักรยานยนต์ของมาเลเซีย ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์นั้นยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว โดยมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 47,186คัน เพิ่มขึ้น 3.9% จาก เดิม 45,434 คันในปี2543 สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ทำให้ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเพียง 4.8% โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 216,007 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2543 ซึ่งมียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 206,157 คัน
จากยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ประเทศอินโดนิเซีย ไม่เพียงเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ยังเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 3 ของโลกรองจากประเทศอินเดียและประเทศจีน (ประเทศจีนเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) โดยในปี 2542 ประเทศไทยนับเป็นผู้นำการตลาดรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยยอดจำหน่ายรวมถึง 598,541 คัน ในขณะที่ประเทศอินโดนิเซียซึ่งเผชิญอยู่กับวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมียอดจำหน่ายเพียง 487,758 คัน อย่างไรก็ตามยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยปี 2543 มียอดจำหน่ายจำนวนมากถึง 864,136 คัน หรือเพิ่มขึ้น 77.2% ในขณะที่ในปีเดียวกัน ประเทศไทยมียอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 788,854 คัน หรือเพิ่มขึ้น 31.8%
จากยอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอินโดนีเซียนั้น ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ฮอนด้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายเดียว ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อปี2543 ฮอนด้ามียอดจำหน่าย 275,545 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 56.9 % ในขณะที่ปี 2544นี้ มียอดจำหน่าย 373,092 คัน หรือ ส่วนแบ่งการตลาด 59.1 % ทางด้านยามาฮ่านั้นมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 79,747 คัน ในปีที่แล้ว เป็นจำนวน 98,838 คันในปีนี้ แต่ส่วนแบ่งการตลาดของยามาฮ่ากลับลดลงจาก 16.5% เป็น 15.7% เช่นเดียวกับซูซูกิซึ่งมียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับสอง โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 78,297 คันเป็น 101,844 คัน แต่ส่วนแบ่งการตลาดกลับลดลงเล็กน้อยจาก 16.2% เป็น 16.1% ทางด้านคาวาซากิยอดจำหน่ายในไตรมาสนี้มีจำนวนเพิ่มจาก 24,162 คันเมื่อปีก่อน เป็น 30,359 คัน แต่ส่วนแบ่งการตลาดก็ลดลงจากเดิม 5.0% เหลือ 4.8% ส่วนรถจักยานยนต์โมเดนาส์ ซึ่งเป็นรถ จักรยานยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย และมีจำหน่ายในมาเลเซียเป็นตลาดหลัก มีส่วนแบ่งการตลาดที่ ลดลงเช่นกัน โดยลดลงจาก 5.5% เป็น 4.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการหดตัวของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศมาเลเซีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ