ม.แม่โจ้ จัดปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ "โมเดลป่าบ้านโปง" ป่าใกล้เมืองที่สมบูรณ์ที่สุดของเชียงใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday August 23, 2016 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ร่วมกันปลูกป่าบนพื้นที่ฟาร์มบ้านโปง ๙๐๗ ไร่ เพื่อสร้าง "โมเดลป่าบ้านโปง" ป่าใกล้เมืองที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ณ สำนักฟาร์ม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร พร้อมด้วยประชาชนในชุมชน รวมกว่า ๑,๐๐๐ คน ร่วมฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ "โครงการบ้านโปงในพระราชดำริ" ให้อุดมสมบูรณ์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลโดยพร้อมเพรียงกัน โอกาสนี้ คุณสุชาดา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิสวนป่ากรุงเทพ ได้มอบเงินสนับสนุนการปลูกป่าให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย ผศ.ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้รับมอบ และร่วมกันปลูกป่ากับนักศึกษาและชุมชน นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับคุณสุชาดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิสวนป่ากรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหา 2559 โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมในการทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนรักและห่วงแหนทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนในบริเวณพื้นที่ ที่มีศักยภาพของชุมชนและพื้นที่ป่าใกล้เมือง ซึ่งร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่นทำการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าให้มีสภาพที่สมบูรณ์หลังจากที่ได้มีการปลูกต้นไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า การดำเนินการปลูกต้นไม้และการดูแลรักษาป่าไม้ ต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ-เอกชน ทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์และเสียสละเวลามาดูแลต้นไม้ ช่วยปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะเยาวชนและประชาชนที่อยู่ใกล้ป่า จะต้องช่วยกันดูแลรักษามิให้ผู้อื่นมาทำลายได้ ด้าน รศ.ดร.ศิริพร กิรติกาลกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ กล่าวว่า "โครงการต้นแบบการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมสู่ระบบนิเวศด้วยชุมชน" จัดขึ้นพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และเป็นการสร้างต้นแบบการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมสู่ระบบนิเวศด้วยชุมชน "โมเดลป่าบ้านโปง" และเป็นการรณรงค์ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ในการบูรณาการกับพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อระบบนิเวศน์วิทยา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ดิน น้ำ และป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดฯ และการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิสวนป่ากรุงเทพฯ ในการจัดกิจกรรมในครั้ง" สำหรับการการดำเนินงานโครงการต้นแบบการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมสู่ระบบนิเวศด้วยชุมชนฯ ในครั้งนี้ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ในระยะเร่งด่วนได้จัดให้มีปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยในวันนี้ปลูก ต้นพะยูง จำนวน 4,000 ต้น, มะค่าโมง จำนวน 1,000 ต้น , ราชพฤกษ์ จำนวน 1,000 ต้น , ประดู่ จำนวน 500 ต้น , มะขาม จำนวน 500 ต้น และ อินทนิล จำนวน 500 ต้น นางมิ่งขวัญ แดงสุวรรณ หัวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "นับแต่ได้มีการตั้งชุมชมบ้านโปงขึ้น ได้มีการตั้งกฏกติกาในการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างประหยัดและให้ร่วมกันดูแลรักษาป่าสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่อย่างไรก็ดียังมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้ป่าเสื่อมโทรม จากนั้นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสันทราย พื้นที่ 3,686 ไร่ และพื้นที่ 907 ไร่ โดยให้เป็นหน่วยงานเอาใจใส่ดูแลป่าไม้ บริเวณลุ่มแม่น้ำห้วยโจ้ ประกอบกับได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยหาลู่ทาง เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกับชุมชนดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาโดยตลอดทั้งทางกายและจิตสำนึก อาทิ การทำฝายชะลอน้ำ การทำสระแก้มลิง การทำแนวกันไฟ การปลูกป่าดั้งเดิมที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ การปลูกจิตสำนึกค่าแทนคุณ การบวชป่า การเลี้ยงผีขุนน้ำ การฟังธรรมปลาช่อน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จนได้รับรางวัลหลายรางวัล อาทิ รางวัลลูกโลกสีเขียว รางวัลตำบลเขียวขจี รางวัลอุตสหกรรมท่องเที่ยวไทย ฯลฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ