ภาพข่าว4 กูรูเปิดมุมมองในเสวนา“รวมพลังอุดมศึกษาไทย...ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0”

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2016 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น ไทยแลนด์ 4.0 นับเป็นวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมภายใต้การกระชับความร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจสำคัญในการขัพัฒนาปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเพื่อก้าวพ้นกับดักของความเหลือมล้ำและกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทางประเทศไทย สู่เป้าหมายความก้าวหน้าที่ยั่งยืน และทัดเทียมกับนานาประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกมหาวิทยาลัย 61 แห่ง ได้จัดงานเสวนา เรื่อง "รวมพลังอุดมศึกษาไทย...ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0" ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา โดย 4 ผู้นำทางความคิดมาร่วมเวที และมีผู้สนใจและคณบดีจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาร่วมงาน ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จากความเหนื่อยยาก ขายผลผลิตที่ใช้ทรัพยากรไปมากมายแต่รายได้นิดเดียว เปลี่ยนไปเป็นผู้นำเชิงนวัตกรรมของโลกเราสามารถทำได้ไม่ยาก รัฐบาลเองก็พร้อมส่งเสริมให้ก้าวไปพร้อมนวัตกรรม ภาคการศึกษารัฐและภาคอุตสาหกรรมเองต้องจับมือให้มั่นในการเสริมสร้างเด็กไทยรุ่นใหม่เป็นผู้นำและสร้างสรรค์นวัตกรรม เด็กไทยเก่งไม่แพ้ชาติอื่น ถ้าประเทศอื่นทำได้เราก็ทำได้ วันนี้ถือว่าเป็นการแนะแนวทางให้เราก้าวไปแบบไทยแลนด์ 4.0 อนาคตประเทศไทยต้องเป็นแชมป์เทคโนโลยี เราต้องร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นักศึกษาต้องมีความคิดปลดล็อกตัวเองให้เป็น มุ่งสู่การเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) เพื่อเป็นสตาร์ทอัพเจ้าของหรือผู้ประกอบการที่ใช้องค์ความรู้ใหม่ๆมาต่อยอด ในอนาคตมีเทคโนโลยีของเขาเองและตอบสนองโจทย์ความต้องการของสังคมและโลก รัฐบาลเอาจริงกับไทยแลนด์ 4.0 ทางออกจากการที่เป็นลูกจ้าง ก็ไปเป็นเจ้าของนวัตกรรมเอง เป็นจริงได้ ถ้าเรากล้าคิด กล้าเสี่ยง มันจะต้องเริ่มจากอาจารย์และเด็กคนรุ่นใหม่ ถ้าเราเป็นเจ้าของนวัตกรรมเองเราจะรุ่งเรืองแบบยั่งยืน อย่างประเทศเกาหลีเขาทำนวัตกรรมออกมาแล้วขายได้จริง ไม่ใช่เอาวิจัยขึ้นหิ้ง ความเป็นอาจารย์ต้องช่วยเปลี่ยนจากเด็กตีกัน มาเป็นส่งผลงานหุ่นยนต์มาสู้กัน แล้วเราจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก รศ. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการ สนง.คณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการการอุดมศึกษา ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 ปี ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ มี 11 ศูนย์ซึ่งกำลังจะตั้งเพิ่มอีก 1 ศูนย์ ตอนนี้กรรมการวิสามัญดิจิตอลได้เพิ่มเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นอีกแนวทางให้ไทยแลนด์ 4.0 ใช้เป็นเครื่องมือ เราจะนำประเทศไทยไปทัดเทียมนานาชาติ ทางคณะกรรมการจะศึกษา บทบาท และจะสร้างมาตรฐานบังคับมหาวิทยาลัย เราจะดูแลมาตรฐานคณาจารย์ มาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานงานวิจัย การเรียนการสอนปรับเปลี่ยนใหม่ รวมไปถึงบทบาทอาจารย์ต้องเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดการการเรียนรู้ทางนวัตกรรมมากขึ้น มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีจะหลากหลาย ส่วนปริญญาโทและปริญญาเอกจะเข้มข้นขึ้น ประเทศไทยทำได้อยู่แล้ว เสียอย่างเดียวรู้หมดแต่ทำไม่ได้ ไทยแลนด์ 4.0 นี้ทันสมัยนะ เทคโนโลยีเรารู้หมด ส่งคนไปเรียนรู้ระดับสูง แต่คนกระจัดกระจายกันอยู่ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต้องระดมกำลังความร่วมมือกัน ทุกวันนี้คนบ้าปริญญา ไม่บ้าความรู้ เราต้องทำให้ทุกสาขาไม่ขาดคนดีและคนเก่ง และคนไทยต้องถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องก้าวไปพร้อมกันทั้งประเทศ โดยทุกฝ่ายต้องยึดเศรษฐกิจพอเพียงและรักษามรดกวัฒนธรรมไปด้วย เราต้องเปลี่ยนกระบวนการความคิด คนไทยผลิตภาพน้อยจึงต้องสร้างให้มาก ต้องยอมรับโอกาสที่จะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ต้องสอนให้เด็กล้มเป็น ตั้งแต่อนุบาล รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดให้ดูแลตั้งแต่แรกเกิด ทำวันนี้ อีก 30 ปี ถึงจะเห็นผล เร่งพัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ภายในกรอบคนดี ต้องรู้ลึกถึงจะมีผลกว้าง วิศวกรรมเป็นพื้นฐานของหลายวิชา วิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน ถ้าเราจับมือกันถึงจะดี รศ. ดร. คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าประเทศไทยเราติดกับดักความเหลื่อมล้ำและการเป็นประเทศรปานกลางมานาน เพราะเราไม่มีการผลักดันที่ดี เราถนัดซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เรารับจ้างผลิตอย่างเดียวจนมาถึงทางตัน ไม่มีเทคโนโลยีของเราเองเลย ถ้าเราไม่สร้างเองเราก็แบ่งปันไม่ได้ ด้วยแนวโน้มรัฐบาลชุดนี้ผลักดันการศึกษาและอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยต้องเป็นแบบพร้อมใช้ สามารถนำงานวิจัยทางสถาบันเอาไปใช้วิจัยสู่นานาชาติ เรามีอาจารย์ บุคลากรที่มีประสบการณ์ความรู้สูง นักศึกษาที่พร้อมวิจัย ถ้าเราประสานร่วมมือกับภาคเอกชนเข้าร่วมพัฒนาชิ้นงานที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ ผมเชื่อเราว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาแข่งขันบนเวทีโลกได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะเกิดแนวความคิดมุมมองต่างๆไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บริการได้ ดังนั้นสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมจริงจังเพื่อก้าวให้ทันโลก สถาบันการศึกษาต้องเป็นผู้นำการสร้างคน ต้องเปลี่ยน ตื่นตัว ประเทศจะขับเคลื่อนได้โครงสร้างต้องเปลี่ยนหมด สิ่งที่สอนเยาวชนให้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้ถูกต้อง และสร้างให้ติดตัวเค้าไปยาวนาน ถ้าเราไม่วิเคราะห์สิ่งที่ล้มเหลวก็จะเดินต่อไปยาก หมดเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยต่างๆจะมาแข่งขันกัน เราต้องจับมือกันและพัฒนาประเทศไทย ให้นวัตกรรมก้าวไปไกล คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีสิ่งเอื้อ คือ ดิจิตอล เมื่อก่อนไม่มี พอก้าวเข้ายุค 4.0 ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดิจิตอล ทั้งการออกแบบ การทดสอบวิเคราะห์ก็ใช่ดิจิตอลเดี๋ยวนี้การการทดสอบวิเคราะห์ ไม่ใช้แล็บแล้วแต่ใช้ดิจิตอล ซึ่งตั้งแต่กระบวนการดรออิ้งในคอมพิวเตอร์ ทำให้เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด หรือ พรีเซนต์งานได้โดยใช้ดิจิตอล และเราสามารถออกแบบสิ่งที่ต้องการได้ ถ้าท่านต้องการเป็นผู้นำ ท่านต้องตอบโจทย์ให้ได้ ภาคการศึกษาจะเชื่อมโยงอย่างไรก็ไม่เกิดผล ถ้าภาคเอกชนผู้ผลิตไม่เชื่อมโยงด้วย เทคโนโลยีพัฒนามาไกลและรวดเร็ว แต่เราเพิ่งเอามาใช้ก็ไม่เป็นผล ดังนั้นเราต้องมองไปที่ตลาดในอนาคต ความเชื่อมโยงก็จะเกิดขึ้น การร่วมมือของสถาบันการศึกษา อาจารย์กับอุตสาหกรรมต้องส่งเสริมกระตุ้นให้เห็นข้อดีเป็นบวก รวมทั้งสร้างเสริมประสบการณ์โดยตรง ทำให้ท่านอาจารย์ได้การยอมรับและเข้าถึงตำแหน่งวิชาการเร็วขึ้นด้วยการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากอินเตอร์เน็ต นักเรียนก็จะมองอาจารย์เป็นคอมพิวเตอร์ เราต้องประสิทธิ์ประสาทวิชานั้น ทดสอบความรู้ในวิชานั้นๆ ถ้าทำได้ผมคิดว่าเราจะดีขึ้น จากสถิติการเรียนการสอนถ้าจะให้เรียนได้ดีต้องใช้เวลาเรียนและศึกษา 1 หมื่นชั่วโมง ต้องคลุกคลีอยู่ตรงนั้น การที่จะประสบความสำเร็จไม่ว่านักกีฬา หรือ นักดนตรี กว่าที่จะทำผลงานออกมาดีต้อง 1 หมื่นชั่วโมงทั้งนั้น คำอธิบายภาพ 1.เสวนาครั้งใหญ่ รวมพลังอุดมศึกษาไทย...ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 2.ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี 3.รศ. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคกก.อุดมศึกษา 4.รศ.ดร.คมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย 5.เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 6. ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ,รศ. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ,รศ.ดร.คมสัน มาลีสี, คุณเจน นำชัยศิริ และพิธีกร 7.พิธีเปิดงานเสวนาบนเวที ณ ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ