ปภ.แนะประชาชนรู้ทันภัยสารเคมี รับมือ – ปฏิบัติตนถูกวิธีลดเสี่ยงอันตราย

ข่าวทั่วไป Monday October 3, 2016 01:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)แนะประชาชนที่อาศัยโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมรับมืออุบัติภัยสารเคมี โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของสารเคมี สังเกตสิ่งผิดปกติของสภาพแวดล้อม ในพื้นที่ จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยสารเคมี กรณีประสบอุบัติภัยสารเคมี ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาระงับเหตุในพื้นที่ ออกให้ห่างจากจุดที่เกิดอุบัติภัยสารเคมีไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย ห้ามประกอบกิจกรรมที่ทำให้ เกิดประกายไฟบริเวณที่สารเคมีรั่วไหล เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ได้ ที่สำคัญ ห้ามเข้าไประงับเหตุสารเคมีรั่วไหลด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด เพราะหากแก้ไขผิดวิธีจะได้รับอันตรายและทำให้สถานการณ์รุนแรงและ ขยายวงกว้างมากขึ้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อุบัติภัยสารเคมีเป็นภัยร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมมักประสบอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลบ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตน อย่างถูกต้องและปลอดภัยเมื่อประสบอุบัติภัยสารเคมี โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของสารเคมี อาทิ สัญลักษณ์ ประเภท คุณสมบัติและอันตรายของสารเคมี จะช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีและสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการระงับเหตุอุบัติภัยสารเคมี สังเกตสิ่งผิดปกติของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เช่น มีไอหรือควันจำนวนมาก มีกลิ่นเหม็นรุนแรง มีเสียงดังผิดปกติบริเวณสถานประกอบการ น้ำในแหล่งน้ำมีกลิ่นเน่าเหม็นและสัตว์น้ำตายจำนวนมาก เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสารเคมีรั่วไหล จะได้เตรียมการรับมือ ป้องกันและอพยพหนีภัยทันท่วงที จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยสารเคมี อาทิ หน้ากากอนามัย ผ้าสะอาดสำหรับ ปิดจมูก แว่นตากันฝุ่นละออง ถังดับเพลิงเคมี กรณีเกิดอุบัติภัยสารเคมีจะช่วยลดการสูดดมสารพิษเข้าสู่ร่างกายและป้องกันอันตรายจากการระเบิดหรือเพลิงไหม้ กรณีที่ประสบอุบัติภัยสารเคมี ให้แจ้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมาระงับเหตุ โดยให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ กลิ่น สี ประเภทของสารเคมี ชนิดของวัตถุอันตราย จำนวนและอาการของผู้ได้รับอันตราย จะเป็นประโยชน์ต่อการระงับเหตุอุบัติภัยสารเคมีมิให้ขยายวงกว้าง รวมถึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ออกให้ห่างจากจุดที่เกิดอุบัติภัยสารเคมี โดยอพยพไปอยู่บริเวณด้านเหนือลม ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวกในระยะไม่ต่ำกว่า 300 เมตร พร้อมใช้หน้ากากอนามัยหรือผ้าสะอาดปิดจมูก เพื่อลดการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้อุบัติภัยสารเคมีรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นโดยห้ามประกอบกิจกรรมที่ทำให้ เกิดประกายไฟบริเวณที่สารเคมีรั่วไหล อาทิ จุดไฟแช็ก สตาร์ทรถยนต์ เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ อีกทั้ง ห้ามสัมผัสสารเคมีที่รั่วไหล ไม่เข้าใกล้บริเวณที่กั้นเป็นเขตอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ห้ามเข้าไประงับเหตุสารเคมีรั่วไหลด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากสารเคมีแต่ละประเภทมีวิธีการจัดการและระงับเหตุที่แตกต่างกัน รวมถึงต้องใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันสารพิษ หากแก้ไขผิดวิธีจะได้รับอันตรายและส่งผลให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี จะช่วยลดผลกระทบและลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติภัยสารเคมี 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ