สรุปผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2559

ข่าวทั่วไป Friday October 7, 2016 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--หอการค้าไทย ฝ่ายสื่อสารองค์กร ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากประชาชนมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในอนาคตว่าจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการคาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างจะรู้สึกว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่มีการปรับตัวดีขึ้นมากนักก็ตาม อีกทั้งยังห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 63.4 68.6 และ 90.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 62.2 67.6 และ 89.7 ตามลำดับ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีเกือบทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยอยู่ที่ระดับ 74.2 ในเดือนกันยายน 2559 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง การส่งออกที่ยังหดตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในอนาคต สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 53.2 ในเดือนกันยายน 2559 แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยปรับตัวสู่ระดับ 82.7 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะความหวังว่าในครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ