มทร.ธัญบุรี ย้อนความทรงจำ ครั้งหนึ่งเคยทำให้พ่อ 'ยกระดับคุณภาพชีวิตเฉลิมพระเกียรติ’

ข่าวทั่วไป Wednesday November 9, 2016 17:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--มทร.ธัญบุรี "การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป" ความตอนหนึ่งจากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์เมื่อที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 นำมาสู่กรอบการทำงานขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ 'ยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้าน ชุมชน แบบมีส่วนร่วม 84 หมู่บ้านชุมชนเฉลิมพระเกียรติ' ผศ.สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนโครงการ เผยว่า การยกระดับคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านชุมชนจำนวน 84 หมู่บ้านชุมชนนี้ เป็นโครงการที่ทำถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหาศุภมงคลสมัย วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งเป็นหัวขบวนใหญ่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและประชาชน การยกระดับคุณภาพชีวิต 84 หมู่บ้านชุมชนนี้ มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาบุคคลหรือครัวเรือน ร่วมแก้ไขปัญหาความยากจนยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชนเสริมสร้างให้มีศักยภาพ วางรากฐานชุมชนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้คนในหมู่บ้านชุมชนมีความสุขบนวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียง โดยในส่วนของ มทร.ธัญบุรี ทั้ง 10 คณะ และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ได้ลงพื้นที่คัดเลือกชุมชนเป้าหมาย สำรวจความต้องการของชุมชน และจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านชุมชนระยะยาว ซึ่งแผนนั้นเกิดจากการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการและประเมินผล ตลอดจนร่วมรับผลประโยชน์ของคนในหมู่บ้านชุมชน โดยมีจำนวนทั้งหมด 11 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ปราจีนบุรี นครนายกและสมุทรสงคราม ดังเช่น โครงการสร้างเสริมชุมชนด้วยการแพทย์แผนไทย ชุมชนหมู่ที่ 3 - 6 ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี เราได้ลงพื้นที่เข้าไปสอนการทำลูกประคบหน้าและยาดมส้มโอมือ โดยนำความรู้ที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยมาสอนให้แก่ชาวบ้านในชุมชน เน้นการใช้สมุนไพรในชุมชนท้องถิ่น เราสอนและให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสมุนไพร และร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลักหกมาร่วมสอนด้วย ทำให้มีการชั่งตวงวัดสมุนไพรให้ได้สัดส่วน ลูกประคบจึงได้มาตรฐาน เหมาะสำหรับการใช้ในครัวเรือนและวางจำหน่ายเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ หรือการลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาคร ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดูแลโครงการ ได้ร่วมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติการเพาะต้นกล้าและฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคนิคทางชีวภาพ หรือศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติการอาชีพชุมชนโคกขาม ด้วยเทคนิคด้านชีวภาพตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การผลิตสารปรับปรุงดินชีวภาพและนำไปจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในรูปแบบสหกรณ์ นอกจากนี้ยังจัดอบรมการฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคนิคทางชีวภาพ อบรมเทคโนโลยีสารสนเทศ อบรมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ให้กับเยาวชนของหมู่บ้าน อบรมการผลิตสินค้าชุมชนจากพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเพื่อการค้า และร่วมดำเนินการและเป็นที่ปรึกษาการดำเนินการของศูนย์เรียนรู้ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้แพร่หลาย เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้รูปแบบการพัฒนาชุมชนนี้เป็นแบบอย่างในการวางแผนบริหารจัดการชุมชนให้เกิดการพัฒนาในทุกด้านที่มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกหนึ่งโครงการย่อยที่เกิดขึ้นที่ชุมชน อบต.อาษา อ.บ้านนา จ.นครนายก เราพบว่า เมื่อคนในชุมชนได้รับการอบรมให้ความรู้เพื่อสร้างอาชีพเกี่ยวกับการแยกขยะเพื่อนำไปขายธนาคารขยะ อบรมการทำน้ำหมักชีวภาพจากขยะเปียก และอบรมการทำไส้กรอกปลาจากข้าวสวย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ร่วมกันภายในชุมชน ระหว่างผู้เข้าอบรมกับผู้ไม่ได้เข้าอบรมจนทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชนบ้านอาษา และมีชาวบ้านบางกลุ่มได้ผลิตไส้กรอกปลาจากข้าวสวยออกจำหน่ายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเป็นรายได้เสริม "ความรู้สึกจากการลงพื้นที่หลายแห่ง เราเห็นหลายรอยยิ้มของคนในชุมชน ที่เกิดจากการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ที่ช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิต และจุดประกายให้เห็นทั้งคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเองในท้องถิ่น หากย้อนกลับไปก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามากสำหรับชีวิตคนทำงานในโครงการนี้ เชื่อว่าหลายคนในโครงการทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาก็รู้สึกไม่ต่างกัน นอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาบุคคล ชุมชนและสังคมแล้ว ยังสร้างรากฐานสังคมตามวิถีพอเพียงอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาว มทร.ธัญบุรี ที่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยทำให้พ่อ ที่ยังประโยชน์และความอยู่ดีกินดีมาสู่ประชาชนชาวไทย" ผศ.สุมานิการ์ สรุปทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ