ปภ.แนะช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยจากสารเคมีอย่างถูกวิธี...ลดเสี่ยงอันตรายร้ายแรง

ข่าวทั่วไป Thursday November 10, 2016 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุบัติภัยจากสารเคมีอย่างถูกวิธี หากสัมผัสสารเคมี ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก และใช้น้ำสะอาดล้างผิวหนัง หากสารเคมีเข้าตา ให้ลืมตาและเปิดเปลือกตาให้น้ำสะอาดไหลผ่านอย่างน้อย 15 นาที หากสูดดมสารเคมี ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก เพื่อลดการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย หากรับประทานสารเคมี ควรให้ผู้ประสบเหตุดื่มนม ไข่ขาวหรือน้ำเปล่า จะช่วยลดการดูดซึมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อุบัติภัยสารเคมีเป็นภัยร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะบริเวณชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมมักประสบอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลบ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยสารเคมีอย่างถูกวิธี ดังนี้ หากสัมผัสสารเคมี ให้ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก และใช้น้ำสะอาดล้างผิวหนัง แต่หากเป็นสารเคมี ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ อาทิ กรดกำมะถัน ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออก หากสารเคมีเข้าตา ให้ลืมตาและเปิดเปลือกตาให้น้ำสะอาดไหลผ่านอย่างน้อย 15 นาที ห้ามขยี้ตาและใช้น้ำยาหยอดตา เพราะจะทำให้ระคายเคืองตามากขึ้น หากสูดดมสารเคมี ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก เพื่อลดการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พร้อมนำผู้ประสบเหตุออกมายังที่โล่งบริเวณด้านเหนือลม ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก ในระยะไม่ต่ำกว่า 300 เมตร หากรับประทานสารเคมี ควรให้ผู้ประสบเหตุดื่มนม ไข่ขาวหรือน้ำเปล่า พร้อมล้วงคอให้อาเจียน จะช่วยลดการดูดซึมสารเคมี แต่ห้ามทำในกรณีได้รับพิษจากกรดหรือด่าง และในขณะที่ผู้ประสบเหตุกำลังชักหรือหมดสติ ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมี ผู้เข้าช่วยเหลือควรจดจำประเภทของสารเคมี อาการของผู้ประสบเหตุและการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรักษาของแพทย์ 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ