ผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 9/2543 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543

ข่าวทั่วไป Tuesday August 15, 2000 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 9/2543 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 มีมติในเรื่องเกี่ยวกับ
1. การออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-voting Depositary Receipt : NVDR)
2. การอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบธุรกิจอื่น
3. การปรับปรุงเกณฑ์การมีสำนักงานสาขาของบริษัทหลักทรัพย์
4. การปรับปรุงเกณฑ์การประกอบธุรกรรมด้านอนุพันธ์ในลักษณะ OTC ของบริษัทหลักทรัพย์
5. แนวทางการกำกับดูแลการทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line
6. การปรับปรุงเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดของบริษัทหลักทรัพย์
7. การปรับปรุงเกณฑ์การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์
1. การออกใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (Non-voting Depositary Receipt : NVDR)
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ เพื่อรองรับการออก NVDR ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 มาตรการเร่งด่วนสนับสนุนตลาดทุนไทย และอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อออก NVDR โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้มีการออก NVDR ได้ในเร็ว ๆ นี้
การออก NVDR เป็นมาตรการเสริมสร้างอุปสงค์ที่จะแก้ไขอุปสรรคกรณีการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นต่างด้าว (Thai trust fund : TTF) โดย NVDR มีแนวทางการจัดตั้งและประโยชน์เช่นเดียวกับ TTF
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (http://www.sec.or.th)
สำนักเลขาธิการ ชั้น 16 อาคารดีทแฮล์ม ทาวเวอร์ส บี 93/1 ถนนวิทยุ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ 252 - 3223 ต่อ 1619 และ 256 - 7732 โทรสาร 256 - 7755 E-mail : info@sec.or.th
ในการนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับ เพื่อกำหนดให้ (1) NVDR เป็นหลักทรัพย์ (2) NVDR จะต้องออกโดยบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 99% (3) บริษัทย่อยดังกล่าวสามารถออก NVDR ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์จดทะเบียนใด ๆ ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกเป็น 1 บริษัทต่อ 1 หลักทรัพย์จดทะเบียน (4) การเสนอขาย NVDR จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน และบริษัทที่ออก NVDR สามารถเสนอขาย NVDR ที่ออกใหม่ได้หลายครั้ง (5) บริษัทที่ออก NVDR จะได้รับยกเว้นไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในกรณีที่ถือครองหุ้นรองรับ NVDR มีจำนวนถึงจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ และ (6) บริษัทที่ออก NVDR ยังมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและจัดทำงบดุลส่งให้สำนักงาน
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อประกอบธุรกิจการออก NVDR โดยให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทย่อยดังกล่าว เพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจเกี่ยวกับฐานะความมั่นคงของผู้ออก NVDR
ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังกล่าว ได้แก่
1) ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง การกำหนดประเภทหลักทรัพย์เพิ่มเติม (ฉบับที่ 4)
2) ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ อ้างอิงไทยโดยบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3) ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (ฉบับที่ 3)
2. การอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบธุรกิจอื่น
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุญาตให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อให้บริการและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ internet ตามโครงการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานของ internet trading platform สอดคล้องกับมาตรการเสริมสร้างอุปสงค์ที่สนับสนุนให้มี internet trading ในวงกว้างเพื่อลดต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 มาตรการเร่งด่วนสนับสนุนตลาดทุนไทย
การจัดตั้งบริษัทย่อยดังกล่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการซื้อขายหลักทรัพย์ ผ่านระบบ internet ให้แพร่หลายในวงกว้าง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ ตามโครงการดังกล่าวเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้ลงทุนโดยตรงที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงต่อไป
3. การปรับปรุงเกณฑ์การมีสำนักงานสาขาของบริษัทหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขออนุญาตและการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์มีสานักงานสาขา ซึ่งเป็นการปรับปรุงเกณฑ์การจัดตั้งสำนักงานสาขาของบริษัทหลักทรัพย์ ให้ครอบคลุมทั้งสำนักงานสาขาเต็มรูปแบบ (full branch) และสำนักงานสาขาออนไลน์ (cyber branch) เพื่อให้การจัดตั้งสำนักงานสาขาของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นการตัดสินใจในเชิงธุรกิจมีความคล่องตัวและมีขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็ว เหมาะสมกับพัฒนาการทางธุรกิจ e-commerce และสอดคล้องกับการสนับสนุนให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบ internet trading ซึ่งเป็นหนึ่งใน 11 มาตรการเร่งด่วนสนับสนุนตลาดทุนไทย
การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดตั้งสำนักงานสาขาเต็มรูปแบบและสำนักงานสาขาออนไลน์ได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อสำนักงาน หากบริษัทหลักทรัพย์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด ทั้งในด้านฐานะทางการเงิน ประวัติการดำเนินธุรกิจ และคุณสมบัติของบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแจ้งต่อสำนักงานล่วงหน้าก่อนวันเริ่มเปิดทำการสำนักงานสาขา
(สรุปเกณฑ์การมีสำนักงานสาขาปรากฏตามเอกสารแนบ)
4. การปรับปรุงเกณฑ์การทำธุรกรรมด้านอนุพันธ์ในลักษณะ OTC ของบริษัทหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง การทำธุรกรรมและการให้บริการด้านอนุพันธ์ของบริษัทหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการปรับปรุงเกณฑ์การทำธุรกรรมด้านอนุพันธ์นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ (OTC derivative) ของบริษัทหลักทรัพย์ให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวยิ่งขึ้น อันจะช่วยสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการทำธุรกรรมด้านอนุพันธ์ที่จะมีขึ้นในอนาคต
สาระสำคัญของการทำธุรกรรมด้านอนุพันธ์ในลักษณะ OTC มีดังนี้
1) การซื้อขาย OTC derivatives เพื่อป้องกันความเสี่ยง (hedging) ที่มีคู่สัญญาเป็นสถาบันการเงินบริษัทหลักทรัพย์สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
2) กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์จะซื้อขายอนุพันธ์หรือมีฐานะอนุพันธ์เพื่อตนเองนอกจากกรณีตามข้อ 1. ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานและต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในเรื่องเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ โดยสำนักงานจะพิจารณาถึงความพร้อมด้านการบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ
3) การให้บริการด้านอนุพันธ์ในลักษณะอื่นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น การให้คำแนะนำ หรือการเป็นนายหน้าโดยไม่เป็นคู่สัญญา ไม่ต้องขออนุญาตแต่ต้องแจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าก่อน 5 วันทำการ
4) การดำเนินธุรกรรมตามข้อ 2. และข้อ 3. กำหนดให้สินค้าอ้างอิงเป็นตราสารทางการเงิน และจำกัดประเภทผู้ลงทุนเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งรวมถึงผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่มีการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือปรับโครงสร้างผลตอบแทนการลงทุนในตราสารทางการเงิน
5. แนวทางการกำกับดูแลการทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการของแนวทางการกำกับดูแลการทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line ซึ่งครอบคลุมถึงการเสนอขายหลักทรัพย์ การเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การให้บริการของบริษัทหลักทรัพย์ และการประกอบการที่เข้าข่ายเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อความชัดเจนในการกำกับดูแลการทำธุรกรรมดังกล่าวมิให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้สื่อ on-line ทางธุรกิจของผู้ประกอบการและผู้ลงทุน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารผ่านระบบ internet ในธุรกิจหลักทรัพย์ได้รับความนิยมมากขึ้น และเป็นช่องทางใหม่ในการติดต่อทางธุรกิจซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ในต้นทุนที่ลดลง จึงมีมติเห็นชอบในหลักการของแนวทางการกำกับดูแลการทำธุรกรรมด้านหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกับการกำกับดูแลการทำธุรกรรมดังกล่าวขององค์กรกำกับดูแลตลาดทุนต่างประเทศ ดังนี้
1) การให้บริการผ่านสื่อ on-line เป็นเพียงสื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ให้บริการด้านหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line จึงไม่ต้องได้รับใบอนุญาตประเภทใหม่
2) วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงเดิม คือ คุ้มครองผู้ลงทุน สร้างความมั่นคงให้ตลาด และลดความเสี่ยงที่จะมีต่อระบบ
3) แก้ไขปรับปรุงเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น
ในการนี้ สำนักงานได้ยกร่างแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกรรมอื่นในตลาดทุนผ่านสื่อ on-line ที่จะใช้ในการกำกับดูแลธุรกรรมดังกล่าวในเรื่องเกี่ยวกับ
1. การเสนอขายหลักทรัพย์และ การเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการผ่านสื่อ on-line
2. การให้บริการของบริษัทหลักทรัพย์ผ่านสื่อ on-line
3. การประกอบการที่เข้าข่ายเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์
เพื่อกำหนดขอบเขตหรือวิธีการทำธุรกรรมดังกล่าวที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับการประกอบธุรกรรมตามปกติ อันจะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้ลงทุนที่ใช้บริการจากผู้ประกอบการ ทั้งนี้ สำนักงานจะจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะกำหนดเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการต่อไป
6. การปรับปรุงเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดของบริษัทหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. 2 ฉบับ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศเกี่ยวกับเกณฑ์การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นจากธุรกรรมด้านอนุพันธ์
สาระสำคัญของการปรับปรุงเกณฑ์ในร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดังกล่าว มีดังนี้
1) ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ได้เฉพาะสำหรับการซื้อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ไม่ใช่ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์และออปชัน เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ที่เกิดจากการก่อภาระผูกพันที่ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงสูงขึ้น (leverage)
2) ร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด
2.1) เพิ่มเติมเหตุในการระงับการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ให้รวมถึงกรณีบริษัทหลักทรัพย์มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่ำกว่าศูนย์ (NC ติดลบ) ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ
2.2) เพิ่มเติมเกณฑ์การดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์หรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่ ในระหว่างที่ถูกระงับการประกอบธุรกิจ
- ให้บริษัทหลักทรัพย์ล้างฐานะ (position) ในออปชันที่ตนมีอยู่
- ให้บริษัทหลักทรัพย์โอนฐานะออปชันและทรัพย์สินของลูกค้าในบัญชีออปชันและบัญชีเงินสดไปให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นดำเนินการแทน
- ให้บริษัทหลักทรัพย์ล้างฐานะออปชันของลูกค้า กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการโอนได้ เนื่องจากลูกค้ามีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่าที่กำหนดและไม่นำหลักประกันมาวางเพิ่ม
7. การปรับปรุงเกณฑ์การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. เรื่อง การจัดทำบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเกณฑ์การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย อันจะเสริมสร้างความโปร่งใสและผ่อนปรนเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวมีดังนี้
1) จัดประเภทและนิยามลูกหนี้ใหม่ โดยเพิ่มนิยาม "ลูกหนี้อื่น" ให้หมายถึงลูกหนี้มาร์จิ้นเดิม เพื่อแยกรายการดังกล่าวออกจากลูกหนี้มาร์จิ้นตามระบบ credit balance และแก้ไขนิยาม "ลูกหนี้ผ่อนชำระ" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2) แก้ไขการคำนวณมูลค่าของหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นประกัน โดยบริษัทหลักทรัพย์ต้องคำนวณมูลค่าหลักประกันที่เป็นหลักทรัพย์โดยใช้ราคาเสนอซื้อปัจจุบันแทนของเดิมที่ใช้ราคาปิด และหากไม่มีราคาเสนอซื้อปัจจุบัน ให้ใช้ราคาปิดแทน
3) ผ่อนปรนให้บริษัทหลักทรัพย์ไม่จำเป็นต้องประเมินราคาหลักประกันประเภทอสังหาริมทรัพย์ทุกปี โดยการเพิ่มทางเลือกให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถใช้ราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี เป็นราคาของหลักประกันได้ โดยให้คำนวณมูลค่าของหลักประกันตามวิธีส่วนลดจากราคาที่ประเมินไว้ในอดีต--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ