สศท.9 เกาะติดพื้นที่น้ำท่วมขังคาบสมุทรสทิงพระ กระทบพื้นที่ข้าวเสียหายแล้วร้อยละ 23

ข่าวทั่วไป Wednesday December 21, 2016 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอคาบสมุทรสทิงพระ ระบุ ข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเสียหายแล้ว 24,477 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เตรียมติดตามความเสียหายอย่างใกล้ชิดพร้อมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินและเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือในทันที นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยกำลังแรงขึ้น ประกอบกับความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนล่างเคลื่อนตัวผ่านประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่าง ระหว่างวันที่ 1-5 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ เป็นเหตุให้พื้นที่ปลูกข้าวของจังหวัดสงขลาได้รับความเสียหายมาก โดยเฉพาะอำเภอในคาบสมุทรสทิงพระ ได้แก่ สิงหนคร สทิงพระ กระแสสินธุ์ และระโนด ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัด โดยทั้ง 4 อำเภอดังกล่าว มีพื้นที่เป้าหมายการปลูกข้าวรอบที่ 1 ปี 2559/60 รวม 147,000 ไร่ และขณะนี้เกษตรกรได้ปลูกไปแล้วประมาณ 107,788 ไร่ (ร้อยละ 73) จากผลการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2559) ของทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) เบื้องต้น พบว่า ข้าวที่ปลูกไว้แล้วได้รับผลกระทบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ปลูกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 59 ก่อนฝนตกหนัก กับข้าวนาปีที่ปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 59 บางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขังนานได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง 24,477 ไร่ หรือร้อยละ 23 ของพื้นที่ปลูก ทั้งนี้ ข้าวนาปีที่เหลืออยู่ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรอาจส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่น้ำท่วมหนักในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ในคาบสมุทรสทิงพระ เป็นพื้นที่ที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำฝนไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนท่วมขังเป็นเวลานาน ส่งผลให้นาข้าวเสียหาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ด้วยการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยการผลิต อื่นๆ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปลูกข้าวอีกครั้งหนึ่งหลังน้ำลด ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เป็นการติดตามเพื่อประเมินผลความเสียหายในเบื้องต้น หลังจากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ สศท.9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันประเมินความเสียหายที่แท้จริงอีกครั้ง และอยากให้เกษตรกรอย่านิ่งนอนใจ คอยติดตามสถานการณ์และพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้ทางภาคใต้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน อาจจะมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมได้อีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ