สสส. จับมือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม“ปีใหม่ กลับบ้านปลอดภัย มีวินัย ไม่ดื่มไม่ซิ่ง”

ข่าวทั่วไป Tuesday December 27, 2016 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--ดับเบิ้ล ดี มีเดีย ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาวๆ หลายคนเลือกจะท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อชาร์ตพลังงานในตัวก่อนเริ่มต้นลุยงานในปีหน้า ขณะที่อีกหลายคนกลับมุ่งหน้าสู่บ้านเกิด เพื่อจะฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัว แต่คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่น้อยหากบางคนกลับไม่ถึงบ้าน ด้วยเพราะความประมาทของผู้ใช้รถใช้ถนน จนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหยื่ออุบัติเหตุ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรับมือปีใหม่ ภายใต้แนวคิด "ปีใหม่ กลับบ้านปลอดภัย มีวินัย มีน้ำใจ ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง" เพื่อร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สรุปข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงปีใหม่ (7 วัน) 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 57-59 พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 52 ราย บาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 474 คน โดยในปี 59 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 380 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ไม่เคารพกฎหมาย และขาดวินัยในการขับขี่ และพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญคือการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พลตำรวจโทวิทยา ประยงค์พันธ์ รักษาการผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลด้านการจราจร กล่าวว่า ปกติแต่ละวันจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 30 ราย ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว มาตรการรับช่วงเทศกาลปีใหม่ ล่าสุดได้ประชุมฝ่ายอำนวยการงานจราจรตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ด่านชุมชน และฝ่ายต่างๆ เน้นย้ำใน 2 คือ อำนวยความสะดวกในการจราจร จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง ทางโค้ง ทางลาดชัน ทั่วประเทศกว่า 2,602 จุด ประชาสัมพันธ์ทางเลี่ยงเพื่อบรรเทารถติดสะสม อีกทั้งกำชับกวดขันวินัยจราจร การใช้ความเร็ว การขับย้อนศร มาตรการเมาแล้วขับจับยึดรถ ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งจะมีจัดตรวจทั้งหมด 3 พันกว่าแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจเวลาที่ตำรวจตั้งด่านและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น ไม่ละเมิดกฎหมาย นายสุวีระ บุญรอด ศิลปินวงฟลัวร์ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามถนนเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ต้องนอนไอซียู รักษาเลือดคลั่งในสมอง กระดูกไฟปลาร้าหัก ขาขวาหัก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ตั้งใจเลิกดื่มสุราตลอดชีวิต เพราะรู้สึกว่าชีวิตมีค่า หันมารักชีวิตดีกว่า เมื่อก่อนหมดเงินไปกับสุราวันละ 1-2 พันบาท วันนี้กลับมาเป็นคนใหม่หลุดพ้นจากสุราได้ อยากฝากว่าปีใหม่นี้ ควรลดละเลิกและฉลองอย่างมีสติ อย่าให้เทศกาลแห่งความสุขต้องกลายมาเป็นเทศกาลเจ็บ ตาย พิการ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่คนไทยอยากทำสิ่งดีๆ ถวายในหลวงรัชการที่ 9 เป็นโอกาสอันนี้ที่จะปฏิบัติบูชาด้วยความตั้งใจที่จะเลิกดื่มน้ำเมาตลอดชีวิต ซึ่งได้ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ถวายพระองค์ท่าน นางสมร บรรณา อายุ 66 ปี ชาวบ้านนาส่วง ต.นาส่วง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เหยื่อจากอุบัติเหตุบนท้องถนนรายหนึ่งเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2558 ขณะที่กำลังเดินข้ามถนนเพื่อไปร่วมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดในหมู่บ้าน ได้มีรถจักรยานยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็ววิ่งเข้ามาชนเธออย่างรุนแรง ผลทำให้กระดูกเชิงกรานหักไป 4 ท่อน กระดูกสบ้าเคลื่อน แม้ไม่ถึงขั้นต้องเสียชีวิต แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้ และยังมีรายได้เสริมในช่วงวันว่างจากการทำนาซึ่งหันมารับจ้างนวดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน กลับต้องกลายมาเป็นคนเดินไม่สะดวกและไม่สามารถนั่งพับเพียบสวดมนต์ได้ ทั้งยังต้องพึ่งพารายได้ในการดำรงชีพจากลูกชายเพียงช่องทางเดียว ชีวิตค่อนข้างลำบากกว่าเดิมมาก จึงอยากจะฝากถึงคนใช้รถทุกคน ให้ตระหนักและใส่ใจคนรอบข้างบ้าง โดยเฉพาะคนเดินถนน ง่วงก็ไม่ขับและอย่าขับรถเร็ว เพราะความประมาทของคุณเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของคนๆหนึ่งได้ แม้นั่นอาจจะมาจากอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียวก็ตาม ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับช่วงเทศกาลหยุดยาวในปีนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงที่มีประชาชนจำนวนมากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมลงนามถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งอาจเป็นการเดินทางที่มีความแตกต่างจากปีอื่นๆ ที่ผ่านมา สสส.จึงสนับสนุนการรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "กลับบ้านปลอดภัย" เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนที่เดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สัญจรด้วยคววมระมัดระวังและลดพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญคือ การมีวินัยเคารพกฎจราจร มีน้ำใจ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถหรือโดยสาร เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 แก้ว (200 ซีซี) จะส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 20-30 มิลลิกรัม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจและการตอบสนองของคนช้าลง ความเสี่ยงที่ตามมาจึงมีมากขึ้น นอกจากนี้ควรใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ฝืนขับรถขณะง่วงเพลีย และควรใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทางทั้งการคาดเข็มขัดนิรภัยและการสวมหมวกนิรภัยเพื่อช่วยรักษาชีวิตได้หากประสบอุบัติเหตุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ