ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้สึกปลอดภัยบนถนนของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday January 4, 2017 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง ความรู้สึกปลอดภัยบนถนนของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,204 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 28 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.7 เคยได้ยินข่าวการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนค่อนข้างมากถึง มากที่สุด และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 รู้สึกไม่ปลอดภัย ถึงแม้จะข้ามถนนบนทางม้าลาย ตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 เช่นกัน ระบุว่า เมื่อข้ามถนนบนทางข้าม ตามกฎหมาย ก็ไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะ รถมอเตอร์ไซด์ไม่ยอมหยุดให้ รถยนต์ไม่ยอมหยุดให้ สัญญาณไฟให้คนข้าม เสียบ่อยๆ และเพราะไม่มีตำรวจอยู่ คนขับไม่มีวินัย คนขับไม่เคารพกฎจราจร คนข้ามถนนคือคนจน เกิดอะไรขึ้น คนรวยถูก คนจนผิด ตลอด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 90.2 ระบุ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนนถนน เป็นเรื่อง วิธีการป้องกันและแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่ไม่มีประสิทธิภาพ มากกว่า เรื่อง เวรกรรม ซึ่ง ถือว่า เป็น การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนที่เคยพบเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ที่ประชาชนส่วนใหญ่เคยเชื่อว่า เป็น เรื่อง เวรกรรม มากกว่า ที่น่าพิจารณาคือ หน่วยงานที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน กลับพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.6 ระบุ เป็น กระทรวงคมนาคม รองลงมาคือ ร้อยละ 58.0 ระบุเป็นตำรวจ ทิ้งห่าง กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 18.1 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.0 ระบุ อุบัติเหตุจาก เมาและขับ ทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก รัฐบาลควรเพิ่มโทษ เมาและขับ เท่ากับ กฎหมายยาเสพติดด้วย ในขณะที่ นายแพทย์ ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้นเร่งสื่อสารให้ผู้ขับขี่ตระหนักและทราบถึงความจำเป็นในการชะลอหรือหยุดรถให้คนเดินข้ามถนนเป็นเรื่องสำคัญโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเข้มงวดกับ รถจักรยานยนต์และรถยนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และการที่ประชาชนเห็นว่า กระทรวงคมนาคมและตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนน น่าจะเกิดจากประสบการณ์และการเห็นสาเหตุจาก ถนนและสิ่งแวดล้อมและยานพาหนะ และการที่ กระทรวงมหาดไทยไม่ถูกคาดหวังไว้สุง อาจเป็นเพราะ ประชาชนยงมองสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาอุบัติเหตุเป็นเชิงเดี่ยว เช่น แก้เรื่องถนน บังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ ควรต้องปรับให้แยกระหว่าง การป้องกัน และ การดูแลรักษาที่ กระทรวงสาธารณสุข ควรเข้ามาเกี่ยวข้องให้สามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ