นักวิชาการ แนะหลักสูตรออกแบบอุดมศึกษาควรเพิ่มภาคปฏิบัติ เพื่อปิดจุดอ่อนในโลกแห่งการทำงานจริง พร้อมเผย 5 ทักษะที่นักออกแบบต้องมี

ข่าวทั่วไป Thursday January 5, 2017 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จัดเสวนาหัวข้อ "Learning Model - Design Education: สู่การศึกษารูปแบบใหม่" ดึงนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำร่วมยกระดับการศึกษาด้านการออกแบบของไทย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เผยปริญญาตรีสาขาการออกแบบ ต้องมุ่งพัฒนาให้นักเรียน นักศึกษา สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะที่ได้ในการทำงาน ในขณะเดียวกันต้องไม่ทิ้งการสอนองค์ความรู้ทางทฤษฎี โดยบัณฑิตสาขาการออกแบบต้องเรียนรู้จากบริษัท และผู้ประกอบการ ในฐานะตัวแปรสำคัญในการสอนเรื่อง "กระบวนการทำงานในโลกความเป็นจริง" พร้อมเผยนักออกแบบยุคปัจจุบันต้องมีความเป็น "นักออกแบบเชิงสัมพันธ์" (Relational Designer) โดยต้องมีทักษะ 5 ประการสำคัญ ได้แก่ 1. ทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2. ทักษะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) 3. ทักษะผู้ตัดสินใจ (Decision Maker) 4. ทักษะนักสื่อสาร (Communicator) 5. ทักษะผู้เร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้จัดเสวนาหัวข้อ "Learning Model - Design Education: สู่การศึกษารูปแบบใหม่" รวบรวมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อระดมสมอง ยกระดับระบบการศึกษาด้านการออกแบบของไทย โดยงานเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานชุมนุมทางความคิดประจำปีครั้งที่ 10 (CU 2016) เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า การจะพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบของประเทศนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาบุคลากร ให้สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภค และเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาด้านการออกแบบมาโดยตลอด และได้สนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ "โครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค" (miniTCDC) ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาด้านการออกแบบทั่วประเทศไทย สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการออกแบบ โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้าร่วมโครงการถึง 15 แห่ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบยังคงหยิบยกประเด็นด้านการศึกษาสาขาการออกแบบเป็นหัวข้อสำคัญ เพื่อร่วมกันหาทางออกและยกระดับผ่านการพัฒนาอย่างตรงจุด โดยล่าสุดได้จัดเสวนาหัวข้อ "Learning Model - Design Education: สู่การศึกษารูปแบบใหม่" และได้รวบรวมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากสถาบันระดับอุดมศึกษา เพื่อระดมสมอง และร่วมแชร์ประสบการณ์ที่มีต่อการศึกษาด้านการออกแบบของประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อ ด้าน ผศ.ดร. รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเรียนการสอนด้านการออกแบบต้องมุ่งพัฒนาให้เด็กสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้จริง เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆในขั้นตอนการทำงาน และสามารถต่อยอดพัฒนาศักยภาพของตนได้หลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว อย่างไรก็ตามการจะมุ่งพัฒนาในทิศทางดังกล่าวยังมีตัวแปรอื่นที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น การสร้างองค์ความรู้ทางทฤษฎีที่สำคัญด้านการออกแบบ ตัวชี้วัดและระบบการประเมินการเรียนการสอน ตลอดจนการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องอบรมบ่มเพาะวิชาทั้งหมดให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีภายในระยะเพียง 4 - 5 ปี ผศ.ดร. รชพร กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ปัจจุบัน การออกแบบหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การปูพื้นฐานความรู้ทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะนักศึกษาที่พึ่งจบจากมัธยมศึกษาเกือบทั้งหมด ไม่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆอย่างจริงจังมาก่อน การจะสามารถเป็นนักออกแบบที่ดีได้ต้องมีอาวุธครบมือ รู้จักทฤษฎีต่างๆเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ อีกทั้งในบางสาขาเช่น สถาปัตยกรรมนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของทั้งอาจารย์ผู้สอน และนักเรียนนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม ทั้งหมดนี้ทำให้นักศึกษาที่จบจำนวนมากขาด "ความเข้าใจโลก" หรือขาดทักษะและความเข้าใจในการทำงานจริงด้านต่างๆ อาทิ ความต้องการของตลาดโลก กระบวนการทำงานจริง ทักษะทางสังคมและการเชื่อมโยง อย่างไรก็ตาม ช่วงรอยต่อหลังสำเร็จการศึกษาอาจทำให้บัณฑิตด้านการออกแบบท้อถอยในสายอาชีพนี้ เนื่องจากไม่สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาเริ่มต้นใช้ในการทำงาน ซึ่งบริษัทและผู้ประกอบการต่างๆด้านการออกแบบ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการแนะนำ และเปิดโลกทัศน์ให้กับบัณฑิตด้านการออกแบบเหล่านั้น ได้สั่งสมประสบการณ์ และความรู้นอกห้องเรียน ตลอดจนสร้างเครือข่าย (Connection) ต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์และต่อยอดงานออกแบบต่อไป ผศ.ดร. รชพร กล่าวต่อ ผศ.ดร. รชพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ในโลกยุคปัจจุบัน นักออกแบบต้องมีความเป็น "นักออกแบบเชิงสัมพันธ์" (Relational Designer) โดยต้องมีทักษะ 5 ประการสำคัญ เพื่อสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ - ทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) นักออกแบบต้องมีทักษะการเริ่มต้นธุรกิจ โดยอาจใช้แนวความคิดเดียวกับการทำสตาร์ทอัพ เพื่อให้สามารถเริ่มต้นโปรเจกต์ที่ออกแบบไว้ให้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ คือ เริ่มต้นด้วยเงินทุนส่วนหนึ่งเพื่อสร้างงานต้นแบบ (Prototype) ใช้ประกอบนำเสนอแก่นักลงทุนในฐานะลูกค้า ให้สามารถเห็นภาพตามที่ออกแบบไว้ - ทักษะผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) นักออกแบบต้องอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน และวิศวกร เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ในการทำงานกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจถึงขั้นตอนและมองเห็นเป้าหมายในการทำงานตรงกันกับที่ออกแบบไว้ - ทักษะผู้ตัดสินใจ (Decision Maker) นักออกแบบต้องมีศักยภาพในการตัดสินใจ สามารถเป็นผู้นำในเรื่องการตัดสินใจให้กับทีมได้ เพราะนักออกแบบเป็นผู้ที่เห็นภาพและเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดของ - โปรเจกต์ โดยการตัดสินใจต้องมาพร้อมกับการรับผิดชอบและการหาทางแก้ไขหากมีข้อผิดพลาด - ทักษะนักสื่อสาร (Communicator) นักออกแบบต้องมีทักษะการสื่อสารขั้นสูงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสื่อสารให้กับนักลงทุน และผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายสามารถเข้าใจ และเห็นภาพรวมและรายละเอียดของโปรเจกต์เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ - ทักษะผู้เร่งปฏิกิริยา (Catalyst) นักออกแบบต้องสามารถ built ได้ ทำให้นักลงทุนและผู้ปฏิบัติงานทุกคนเห็นถึงประสิทธิภาพของงานออกแบบ เพื่อให้โปรเจกต์ประสบความสำเร็จได้ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตรงตามที่ออกแบบไว้ ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้จัดงานชุมนุมทางความคิดประจำปี ครั้งที่ 10 (CU2016) ภายใต้แนวคิด "EXIT: สู่ความจริงรูปแบบใหม่" โดยได้รวบรวมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อระดมสมอง ยกระดับระบบการศึกษาด้านการออกแบบของไทย เสวนาในหัวข้อ "Learning Model - Design Education: สู่การศึกษารูปแบบใหม่" มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวจารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ.ดร. เถกิง พัฒโนภาษ ผู้อำนวยการหลักสูตร Communication Design ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพรเทพ ฉัตรภิญญาคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิจัยและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ดิ เอ็มโพเรียม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) 1160 อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทรศัพท์ 02-105-7441 หรือเว็บไซต์ www.tcdc.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ