ครม.ไฟเขียวแผน 5 ปีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ชูใช้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างรายได้-เผยแพร่งานร่วมสมัยไปทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Thursday January 5, 2017 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา มีมติรับทราบนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พ.ศ. 2560 - 2564 ตามที่ วธ. เสนอ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ระยะ 5 ปี เพื่อใช้พัฒนาและแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำงานของ สศร. โดยสาระสำคัญของแผนดังกล่าว มีดังนี้ เรื่องนโยบายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 1.พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ตระหนักถึงคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 2.คนไทยมีความรู้ความเข้าใจ มีความภูมิใจในงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศ และสามารถรักษารากเหง้าของวัฒนธรรมไทย 3.ประเทศไทยสามารถเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยไปทั่วโลก และใช้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ 4.ประเทศไทยสามารถใช้ทุนทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคม นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่จะใช้ขับเคลื่อนงานของ สศร. ในระยะ 5 ปี มีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.ศึกษา วิจัย และส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านงานสร้างสรรค์วิชาการทางศิลปะ และนวัตกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 2.ส่งเสริมให้มีและพัฒนาพื้นที่การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และแหล่งเรียนรู้ 3.ส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่สร้างคุณค่าทางจิตใจสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4.บูรณาการความร่วมมือเชิงรุก เพื่อพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการจัดนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ความเข้าใจงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสามารถรักษารากเหง้าของวัฒนธรรมไทย รวมทั้งให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และยกระดับให้ประเทศไทยสามารถเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไปทั่วโลกและใช้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นสื่อในการสร้างความสัมพันธ์ หรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่สำคัญเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคมด้วยทุนทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างเต็มรูปแบบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ