คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคพิสูจน์แล้ว 2 แบงค์ใหญ่ ทหารไทย — กรุงศรี ทำผิดสัญญาบัตรเครดิตเอาเปรียบชัดเจน

ข่าวทั่วไป Thursday August 17, 2000 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.-- สคบ.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ. ) ได้เก็บตัวอย่างและตรวจสอบสัญญาบัตรเครดิตของ 6 ธนาคารใหญ่ คือ ธนาคารกสิกรไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา ไทยพาณิชย์ ทหารไทย และนครหลวงไทย พบว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา และทหารไทย ยังมีข้อสัญญาทีไม่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ใช้ตัวอักษรในสัญญาขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร มีสัญญาการใช้บัตรรวมอยู่กับใบสมัคร ระบุให้ผู้ถือบัตรสละสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย หรือค่าชดเชยใด ๆ ในกรณีที่ถูกเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข การยกเลิกบัตร เพิกถอน หรืออื่นใด รวมถึงการใช้บัตรเครดิตเพื่อเบิกเงินผ่านระบบ ATM ก็ถือเป็นสิทธิของธนาคารเพียงฝ่ายเดียว และไม่ต้องแจ้งให้ผู้ถือบัตรทราบล่วงหน้า หากบัตรสูญหายผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรเครดิตนั้นเพื่อซื้อสินค้าหรือเบิกเงินสดทันใจในระบบ ATM การแจ้งยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรจะต้องตรวจสอบและแจ้งให้ธนาคารทราบภายใน 7 วัน หากพบว่ามีรายการใดไม่ถูกต้อง หากเกินเวลาดังกล่าวผู้ถือบัตรจะต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด แม้แต่การคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ ธนาคารสามารถกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้ถือบัตรทราบล่วงหน้านั้น
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า กรณีต่าง ๆ ดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 57 และ 59 ของ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีมติให้ลงโทษปรับสูงสุด นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณา ซึ่งถือว่า จงใจโฆษณาเป็นเท็จไม่นำเสนอรายละเอียด ปกปิดข้อมูลอันมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค อันมีโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องนอนป้องกันไรฝุ่น PICASSO ของบริษัทเครื่องนอนไทย จำกัด มีโฆษณาเครื่องไล่หนูและแมลงสาบ Pest Free ซึ่งทั้ง 2 กรณีดังกล่าวถือว่าบริษัททั้งสองรายมีเจตนาก่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้ปรับบริษัท ฯ ละ 50,000 บาท และกรรมการบริษัทรายละ 50,000 บาท อันเป็นโทษปรับสูงสุด ทั้งห้ามมิให้ใช้ข้อความโฆษณาทั้งหมดอีกด้วย--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ