ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงฆ่าสัตว์พิษณุโลกเวิร์ค ลดมลภาวะ แถมได้ก๊าซชีวภาพ

ข่าวทั่วไป Tuesday April 3, 2001 18:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สพช.
โครงการบำบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์เทศบาลนครพิษณุโลกเวิร์ค ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 10,500บาท/เดือน ได้ก๊าซชีวภาพ 1,152 กก./เดือน ลดปัญหามลภาวะ และรักษาสิ่งแวดล้อม
นายนพดล สินไพศาลสมบูรณ์ สัตว์แพทย์ 6 กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครพิษณุโลก กล่าวว่า เทศบาลนครพิษณุโลกได้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนด้วยเงินลงทุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และองค์กรความร่วมมือทางด้านวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(GTZ) โดยเปลี่ยนจากระบบเดิมที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง ซึ่งไม่สามารถรองรับของเสียได้ในปริมาณที่มากพอกับของเสียที่มีอยู่ และมีกลิ่นเหม็น เป็นระบบการบำบัดแบบไร้อากาศ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ดี และได้ก๊าซชีวภาพซึ่งนำมาใช้ต้มน้ำใช้ในโรงฆ่าสัตว์ได้อีกด้วยโครงการบำบัดน้ำเสียในโรงงานฆ่าสัตว์ เป็นโครงการต้นแบบของการบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศในโรงฆ่าสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคจากหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการติดตั้งระบบบำบัดขนาด 200 ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการฆ่าสัตว์ได้ถึงประมาณ 400 ตัว/วัน ซึ่งมีของเสียเกิดขึ้นประมาณ 160 ลบ.ม.ต่อวัน น้ำเสียที่ถูกบำบัดโดยระบบก๊าซชีวภาพดังกล่าวจะถูกส่งไปยังบ่อเปิดที่ปลูกต้นกก เพื่อบำบัดน้ำเสียที่ผ่านระบบให้มีคุณภาพดีในระดับที่สามารถปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ "หลังจากมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2542 ทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณโรงงานฆ่าสัตว์มีคุณภาพที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกลิ่น และน้ำที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ และที่สำคัญผลพลอยได้จากการติดตั้งระบบยังสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 10,500บาท/เดือน จากเดิมที่ต้องบำบัดน้ำเสียโดยระบบเติมอากาศซึ่งต้องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้ก๊าซชีวภาพประมาณวันละ 83 ลบ.ม. ซึ่งก๊าซดังกล่าวได้นำไปใช้ในการต้มน้ำร้อนเพื่อใช้ในโรงฆ่าสัตว์ ทำให้ลดการใช้ก๊าซหุงต้มได้ประมาณ 1,152 กก./เดือน" นายนพดล กล่าว จากตัวเลขของกรมปศุสัตว์ ปี 2542 ประเทศไทยมีโรงงานฆ่าสัตว์ประเภทสุกร 666 แห่ง ซึ่งโรงฆ่าสัตว์ดังกล่าวก่อมลภาวะในรูปความสกปรกในรูปแบบไขมัน น้ำมันและสารอินทรีย์ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูง และของเสียที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นของแข็ง และของเหลว และโดยเฉลี่ยการฆ่าสุกร 1 ตัว ก่อให้เกิดน้ำเสีย 300-500 ลิตร ซึ่งโรงฆ่าสัตว์มักจะไม่ได้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย และมีการปล่อยน้ำเสียที่เกิดขึ้นลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้น้ำเกิดความสกปรกและเน่าในที่สุดดังนั้นโรงฆ่าสัตว์ควรมีระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดกลิ่นที่ทำความเดือดร้อน รำคาญ แก่ผู้อาศัยอยู่ใกล้และยังได้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้มาใช้ทดแทนก๊าซ LPG เป็นการลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ