บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ สั่งการ 10 จังหวัดภาคใต้รับมือฝนตกหนัก 16 - 20 ม.ค.60 – ย้ำเร่งระดมทรัพยากรและสรรพกำลังปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Monday January 16, 2017 09:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ สั่งการ 10 จังหวัดเสี่ยงภัยรับมือฝนตกหนักในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังคงมีน้ำท่วมขังให้เร่งพร่องน้ำและผลักดันน้ำออกสู่ทะเล เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาซ้ำในพื้นที่เดิม พร้อมย้ำส่วนสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงวางแผนการใช้ทรัพยากรและสรรพกำลังในการเสริมกำลังและสนับสนุนการปฏิบัติการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นายชยพล ฐิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้ บกปภ.ช. ประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า ในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง โดยผลกระทบจะแบ่งเป็น 2 ห้วง ดังนี้ ช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และช่วงวันที่ 19 - 20 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล บกปภ.ช. จึงได้สั่งการให้ 10 จังหวัดดังกล่าวเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังคงมีน้ำท่วมขังให้เร่งพร่องน้ำ ผลักดันน้ำออกสู่ทะเล และปิดล้อมพื้นที่เพื่อสูบน้ำออกจากบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมาซ้ำในพื้นที่เดิม รวมถึงให้เฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง และสงขลา ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม โดยติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด หากสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดพิจารณาอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ พร้อมดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและขั้นตอนการปฏิบัติที่กำหนด นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนสนับสนุน ภายใต้ บกปภ.ช.กล่าวว่า บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำการปฏิบัติงานของส่วนสนับสนุนการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยให้เชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในจุดวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบติดตามสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงให้เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการสั่งย้ายและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อลดความสูญเสียชีวิตของประชาชนจากอุทกภัยและดินถล่ม สำหรับประชาชนที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้โดยตรงที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอ หรือแจ้งที่สายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าศูนย์ประสานการปฏิบัติ ภายใต้ บกปภ.ช.กล่าวว่า บกปภ.ช.จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มกำลัง พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และหลักการทรงงาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นแนวทางในการวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 บกปภ.ช. ได้สั่งการให้จังหวัดวางแผนการใช้ทรัพยากรและสรรพกำลัง โดยเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัยจากพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปยังจุดวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงให้ระดมทรัพยากรของทุกภาคส่วนในการเสริมกำลัง และสนับสนุนการปฏิบัติการ โดยคำนึงถึงศักยภาพของเครื่องมือและสภาพความเสี่ยงภัยของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัย เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ท้ายนี้ ประชาชนที่ประสบอุทกภัยสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ