มท.1 ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ย้ำจังหวัดจัดทำแผนการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว

ข่าวทั่วไป Monday January 23, 2017 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 : กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับฟังข้อมูลแผนการฟื้นฟูของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอแผนการฟื้นฟูในภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งจะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ประกอบการจัดทำแผนฟื้นฟูและวางระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน รวมถึงเน้นย้ำจังหวัดเร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อกำหนดแนวทาง การรับมือและแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ ให้ประเมินและรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ด้านระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ ด้านสถานที่ราชการและศาสนสถาน รวมถึงให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างและแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะยาวในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อเสนอที่ประชุม กปภ.ช. พิจารณาต่อไป พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ภาคใต้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 12 จังหวัด ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง ตรัง สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ในภาพรวมระดับน้ำลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ในระยะนี้พื้นที่ภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรากูร ห่วงใยพสกนิกรที่ประสบอุทกภัย ได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างดีที่สุด เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และทั่วถึง ควบคู่กับการเตรียมแผนงานแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยน้อมนำแนวพระราชดำริฯ รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการวางระบบการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน จึงได้จัดประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมรับฟังข้อมูลแผนการฟื้นฟูของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดที่ประสบภัย และส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน (สปฉ.) เพื่อรวบรวมข้อมูลแผนการฟื้นฟูในภาพรวมทั้งระบบครอบคลุมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดทบทวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน โดยเฉพาะกรณีมีผู้เสียชีวิต ให้เร่งจ่ายเงินค่าจัดการศพในทันที และดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการจัดเตรียมแผนการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว โดยสำรวจข้อมูลและประเมินความเสียหายจากอุทกภัยบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายแยกตามประเภท ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ด้านทรัพย์สินและ ที่อยู่อาศัย ด้านระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ ด้านสถานที่ราชการและศาสนสถาน รวมถึงแผนฟื้นฟูเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อเสนอที่ประชุม กปภ.ช. พิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อไป ที่สำคัญ บกปภ.ช. จะได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการดูแลประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างดีที่สุด และจัดทำแผนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยหลังน้ำลดให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงวางระบบ การบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตอุทกภัยอย่างยั่งยืน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า ได้กำชับให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็น 3 ระดับ พร้อมระบุจำนวนครัวเรือนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อวางแนวทางการรับมือและแก้ไขปัญหาได้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่วิกฤต ให้ความสำคัญกับดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ประสบภัยทั้งที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว จุดอพยพ และบ้านเรือนประชาชน การแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่มสะอาด และยารักษาโรคให้เพียงพอ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย 2) พื้นที่เฝ้าระวัง ให้ระดมสรรพกำลัง เครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย และ 3) พื้นที่ ที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยโดยเร็วตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้เจ็บป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล การจ่ายเงินเยียวยาและซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วนและทั้งหลัง การชดเชยเกษตรกรที่พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหายให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า ได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายจากอุทกภัย โดยแยกตามประเภทพร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ครอบคลุมทั้งด้านชีวิต ให้สำรวจข้อมูลและสถานภาพของผู้เสียชีวิต พร้อมเร่งจ่ายเงินค่าจัดการศพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็ว ด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย ให้แยกประเภทความเสียหายของบ้านเรือนเป็นเสียหาย ทั้งหลังและเสียหายบางส่วน (เสียหายน้อยและเสียหายมาก) เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เหมาะสม ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า ประปา ต้องใช้งานได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดที่ชำรุดให้เร่งซ่อมแซมหรือวางแผนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สำหรับด้านคมนาคมและสิ่งสาธารณประโยชน์ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเฉพาะถนนที่กีดขวางทางน้ำให้ทำท่อระบายน้ำลอดใต้ถนน (block convert) รวมถึงการเบี่ยงทางไหลของน้ำ ขณะที่สถานที่ราชการและศาสนสถาน ให้ดำเนินการซ่อมแซมเพื่อเปิดบริการประชาชนได้ตามปกติ นอกจากนี้ ให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดดำเนินการสำรวจสิ่งปลูกสร้างและสิ่งสาธารณประโยชน์ที่กีดขวางทางน้ำไหลผ่าน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เหมาะสม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารอย่างเข้มข้นและจริงจัง ที่สำคัญ ให้จังหวัดจัดทำแผนฟื้นฟูและแผนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเชิงโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบที่ครอบคลุมทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมกำหนดพื้นที่ดำเนินการ แนวทางการดำเนินงาน และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เพื่อ บกปภ.ช. จะได้รวบรวมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) พิจารณาต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ