อย. รุก ขจัดปัญหาสารก่อมะเร็งในซอสปรุงรส

ข่าวทั่วไป Friday June 30, 2000 10:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--อย.
อย. เผย ได้ผลสรุปความชัดเจนของสารก่อมะเร็ง 3-MCPD ในซอสปรุงรส โดยนักวิชาการด้านพิษวิทยาแล้ว พบยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดมะเร็งในคน เมื่อเทียบการบริโภคที่คนไทยได้รับ พบว่าต่ำกว่าปริมาณที่น่าจะเกิดอันตราย จึงยังไม่กำหนดเกณฑ์ แต่จะติดตามมาตรฐานโคเด็กซ์ และร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประสานผู้ผลิตซอสจัดการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อประโยชน์ในการส่งออก พร้อมทั้งจะเก็บตัวอย่างซอส สูตรที่มีการย่อยสลายโปรตีนส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังต่อไป
น.พ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหาการเกิดสารก่อมะเร็ง 3-MCPD ในซอสปรุงรส ที่ปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ว่า อย. มิได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเลย ล่าสุดได้ประชุมหารือกับนักพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมยุโรป กระ ทรวงการต่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้ผลสรุปว่า ข้อมูลทางพิษวิทยายังไม่มีความชัดเจนที่จะบ่งชี้ว่า สาร 3-MCPD ก่อให้เกิดมะเร็งในคน เนื่องจากในสัตว์ทดลองบางชนิด สารดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น แมลงหวี่ และเมื่อคำนวณอัตราเสี่ยงการบริโภคซอสปรุงรสที่ประชากรไทยจะได้รับ พบว่าต่ำกว่าปริมาณที่น่าจะเกิด เป็น 100-1,000 เท่า จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดเกณฑ์ แต่อย่างไรก็ตาม อย. จะได้ติดตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าจะกำหนดเกณฑ์หรือไม่ ในราวเดือนมีนาคม 2544
รองเลขาธิการฯ กล่าวอีกว่า อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะประสานกับผู้ผลิตซอสปรุงรส ในการจัดทำโครงการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดระดับสารดังกล่าวให้ลดน้อยลง เพื่อประโยชน์ในการส่งออกโดย จะทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตที่ใช้วิธีไฮโดรไลซ์ด้วยกรด เพื่อให้ทราบสภาวะที่เหมาะสมที่จะลดสารพิษลงให้ไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ พร้อมทั้งศึกษาการประยุกต์วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งใช้วิธีการผลิตซอสปรุงรสโดยการใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์ย่อยสลายโปรตีนของถั่วเหลือง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 18-24 ชั่วโมง อุณหภูมิ 38-40 องศาเซลเซียส จะได้ซอนที่มีรสชาติดี และอาจดัดแปลงโดยการใช้เอนไซม์จากพืช เช่น เอนไซม์โปรเมเลนจากสับปะรด ซึ่งขณะนี้มีการผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ อย. จะได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสที่มีการใช้กรด ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเฝ้าระวังเป็นระยะต่อไป
รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุดว่า สำหรับข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับสารพิษในซอสปรุงรสนั้น อย. จะได้นำข้อมูลลงใน "สายด่วนผู้บริโภคกับ อย." หมายเลข 1556 กดต่อ 1101 ผู้บริโภคสามารถโทรเข้าไปรับฟังได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กองเผยแพร่และควบคุมการโฆษณา เดือนมิถุนายน ข่าวแจก 122/ปีงบประมาณ 2543--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ