ผู้ว่าฯกทม.ร่วมประชุม “World Habitat Day 2000: ผู้หญิงในการบริหารจัดการชุมชนเมือง”

ข่าวทั่วไป Wednesday October 4, 2000 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.43) เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุม ESCAP ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมการประชุม “World Habitat Day 2000 : ผู้หญิงในการบริหารจัดการชุมชนเมือง” พร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “จากนโยบายสู่การปฏิบัติ : การส่งเสริมบทบาทสตรีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมือง” โดยมี Mr.Kim Hak-Su เลขาธิการบริหาร ESCAP ดร.สุธีรา ทอมสัน กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ อธิการสมาคมร่วมกันสร้าง ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ ผู้แทนสถาบันต่างๆ และประชาชนผู้สนใจ ร่วม ประชุม
การประชุม World Habitat Day 2000 ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ESCAP สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา สมาคมร่วมกันสร้าง และกรุงเทพมหานคร โดยปีนี้ได้มุ่งเน้นการอภิปรายในหัวข้อ “ผู้หญิงในการบริหารจัดการชุมชนเมือง” ภายใต้แนวคิดว่า การบริหารจัดการชุมชนเมืองจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆของชุมชนเมือง และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าความสนใจรวมถึงความต้องการของผู้หญิงได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ในการนี้จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและสร้างการยอมรับในความสามารถของผู้หญิงแก่สังคม มีการเปลี่ยนแปลงกลไกในเชิงโครงสร้างสังคม และพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงควบคู่กันไป เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงก้าวเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริงและมีคุณภาพ
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวปาฐกถาซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศตัวอย่างที่สตรีมีสิทธิและเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งมีการส่งเสริมสถานภาพสตรีให้มีบทบาทในทุกวงการ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศในอันดับต้นๆที่ได้ให้สิทธิแก่สตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา สำหรับการบริหารส่วนท้องถิ่นเช่นกรุงเทพมหานครนั้น ในระดับผู้บริหาร มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร 1 คน จากจำนวน 6 คน มีผู้อำนวยการเขตหญิง 5 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 50 สำนักงานเขต และมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 10 คน จากสมาชิกฯ 60 คน อาจกล่าวได้ว่า กรุงเทพมหานครมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งในระดับบริหารเป็นสัดส่วนไม่มากนัก ทั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะมีการกีดกันสตรีไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง แต่สาเหตุที่ผู้หญิงขึ้นดำรงตำแหน่งบริหารในสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายนั้น เนื่องจากสังคมได้กำหนดบทบาทให้หญิงและชายมีหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะลดบทบาทในด้านการงานลงเพื่อรักษาสถานภาพของครอบครัวไว้ จึงมีผู้หญิงจำนวนไม่มากนักที่ก้าวขึ้นมาในตำแหน่งที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารหรือผู้แทนประชาชน ซึ่งผู้หญิงที่ก้าวขึ้นมาถึงระดับดังกล่าวก็จะได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรมตามความรู้ความสามารถ และหากผู้หญิงมีความสนใจทางการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้งมากขึ้น ก็คาดว่าผู้หญิงจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประชาชนในสัดส่วนที่สูงขึ้นตามไปด้วย ตนมีความเห็นว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นความไม่เท่าเทียมกันบางอย่างนั้นควรปล่อยให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงของสังคม และสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือทั้งหญิงชายต้องรู้จักมีความเกรงใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องรู้จักเลือกทำในสิ่งที่ควรและเว้นในสิ่งที่ควรเว้น ให้เหมาะสมกับบทบาทของตนเอง--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ