ชี้ให้ สสวท.จัดทำแผนแม่บทผลิตครูวิทยาศาสตร์และควรเร่งผลัดดันให้เด็กไทยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 9, 2001 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สสวท.
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้ควรเร่งผลักดันให้เด็กไทยสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควรส่งเสริมและเผยแพร่ให้นำผลงานวิจัยของนิสิต นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาโครงการ พสวท. ไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด พร้อมทั้งให้จัดทำแผนแม่บทในการผลิตครูวิทยาศาสตร์นอกจากนี้ควรจัดหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาครูโดยให้ครูได้มีโอกาสเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการใช้ เครื่องมือวิทยาศาสตร์
จากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบยการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 22/1/2544 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายปองพล อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) นั้น ปัจจุบันโครงการ พสวท. มีนักเรียนนิสิต นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในประเทศและต่างประเทศ 993 คน จาการดำเนินงานมาแล้ว 17 ปี มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการ 257 คน โดยจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ 142 คน แยกเป็นดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาเคมี 56 คน ชีววิทยา 29 คน ฟิสิกส์ 44 คน คณิตศาสตร์ 5 คน คอมพิวเตอร์ 6 คน และธรณีวิทยา 2 คน
ที่ประชุมได้ให้ข้อสังเกตว่าสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ควรจะมีบทบาทในการจุดประกายและกระตุ้นให้เด็กไทยสนใจวิทยาศาสตร์ และควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทิสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวแข็งแกร่งและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งให้ สสวท. เผยแพร่ผลงานวิจัยของนักเรียนทุนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้แพร่หลายมากขึ้นเพื่อประโยชน์จากงานวิจัยให้มากที่สุด
"ข้อเสนอแนะของการประชุมครั้งที่แล้วในเรื่องการให้โอกาสนักเรียนทุน พสวท.เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลนั้นเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตวิทยาการด้านนี้จะมีความสำคัญมากขึ้น ใต้ทะเลยังมีทรัพยากรที่นำมาใช้ประโยชน์มากมายมหาศาลแต่ขาดคนวิจัยและนำมาใช้ และอยากผลักดันให้เด็กไทยสนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะปัจจุบันเราอยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนเกิดจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งนั้น และคิดว่าการพัฒนาครูด้านนี้ก็มีความสำคัญเช่นกันจึงควรจะกำหนดแผนแม่บทในการผลิตและพัฒนาครูอย่างชัดเจน" นายปองพลกล่าว
ในส่วนของนางสิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความเห็นว่าการที่เด็กไทยสนใจเรียนวิทยาศาสตร์น้อยส่วนหนึงเกิดจากค่านิยมในสังคมที่ยังไม่สนับสนุนให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์ มีการขาดแคลนครูในสาขานี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา และหลักสูตรในระดับประถมศึกษาเองที่เมื่อก่อนไม่มีหลักสูตรวิยาศาสตร์โดยเฉพาะ แต่แฝงไว้ในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากการปฏิรูปการศึกษา
สำหรับการดำเนินการโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) นั้น ควรมีแผนแม่บทในการผลิตครูวิทยาศาสตร์และควรจัดหลักสูตรที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาครูประจำการ โดยให้ครูได้มีโอกาสเสริมสร้างและพัฒนาทักษะการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการ สควค. ระยะที่ 2 (พ.ศ.2546-2549) ต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะให้วิจัยเชิงสำรวจว่าในระยะ 5 ปี 10 ปี ประเทศขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์สาขาใด จำนวนเท่าใด มีอัตรารองรับเท่าใดเพื่อประสิทธิผลของโครงการ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ