พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 31, 2000 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กทม.
เมื่อบ่ายวันที่ 29 พ.ค. 43 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการ ณ บริเวณพลับพลาพิธี ถนนพระราม 3 ซ.32 เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) เฝ้ารับเสด็จ พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์) (นายวัฒนา อัศวเหม) (นายพินิจ จารุสมบัติ) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) อธิบดีกรมโยธาธิการ (นายวรวิทย์ เลิศลักษณา) และปลัดกรุงเทพมหานคร (นายประเสริฐ สมะลาภา)
โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมเป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นโครงข่ายถนนเพื่อรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการแล้วจะให้ผลตอบแทนในการลงทุนทางเศรษฐกิจถึง 18% สำหรับงานที่จะดำเนินการก่อสร้าง 2 ส่วน คือ งานถนนและงานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา งานถนนสายหลักที่ประกอบกันเป็นส่วนของถนนวงแหวนอุตสาหกรรม คือ ถนนพระราม 3 ถนนทางรถไฟสายเก่า และถนนปู่เจ้าสมิงพราย ปัจจุบันถนนพระราม 3 และถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียงถนนสายรถไฟสายเก่าที่จะต้องปรับปรุงจากจุดตัดกับถนนหน้าการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปตามถนนทางรถไฟสายเก่า ถึงบริเวณจุดตัดกับถนนปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทางประมาณ 7.8 กิโลเมตร
ส่วนงานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะเป็นการก่อสร้างสะพานขึงมีความกว้าง 7 ช่องจราจร มีความสูงถึง 54 เมตร ความยาว 4.2 กิโลเมตร ตรงกลางสะพานมีทางแยกต่างระดับ ขนาดความกว้าง 4 ช่องจราจร ซึ่งจะเชื่อมโยงถนนพระราม 3 ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนสุขสวัสดิ์เข้าด้วยกัน สามารถใช้เป็นเส้นทางในการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งตามแผนการดำเนินโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ. 2547 จุดเด่นของโครงการนี้คือ ทางด้านวิศวกรรมเป็นสะพานขึงแห่งแรกในประเทศไทยที่มีชุมทางเชื่อมต่ออยู่ที่กลางสะพาน สูงจากทางเดินประมาณ 50 เมตร และเป็นสะพานขึงที่มีขนาด 7 ช่องจราจร แตกต่างจากเส้นทางทั่วไปที่มีช่องจราจรเป็นเลขคู่
นอกจากนั้นสะพานยังมีจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรมไทยด้วย เนื่องจากเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างใกล้บริเวณปากอ่าว กรมโยธาธิการ จึงเน้นตรงยอดเสาสูงของสะพานจะออกแบบเป็นเหลี่ยมเพชร สูงประมาณเกือบ 130 กว่าเมตร ตรายอดจะเป็นรูปชฎา หรือเจดีย์ เพื่อเป็นสิ่งดึงดูดสนใจให้นักท่องเที่ยวมาชมความสวยงาม ส่วนพื้นที่ใต้สะพานจะพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่นเป็นพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องกลมกลืนกับพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติในเขตบางกระเจ้าต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ