จาก 'พลังรัก’ ถึง 'พลังพลเมือง’ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ข่าวทั่วไป Monday February 27, 2017 11:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล แม้จะผ่านวันแห่งความรักมาแล้ว แต่ใครหลายคนก็ย้ำว่าวันไหนๆ ก็ควรมอบความรักต่อกัน เพราะความรักที่แท้นั้นเป็นพลังบวกที่ผลักดันให้คนลงมือทำสิ่งดีๆ อย่างเช่นเด็กๆ กลุ่มหนึ่งจากหลายภูมิภาคของประเทศไทยที่พวกเขากำลัง "หลงรักบ้านเกิด" อย่างถอนตัวไม่ขึ้น จากการพาตัวเองลงไปเรียนรู้ชุมชน จนได้รู้จักต้นทุนดีๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และปราชญ์ชาวบ้าน แล้วนำมาพัฒนาเพิ่มคุณค่า พร้อมกับที่ตัวเองก็เป็นสุขและผูกพันกับสิ่งที่ทำ เกิดความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นมารู้ รัก และตระหนักร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ สามเณรหนุ่ย-วีรพล สิงสาร จากโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุแช่แห้ง ศาสนทายาทผู้อาศัยร่มกาสาวพัสตร์ ที่รวมกลุ่มกับเพื่อนสามเณรริเริ่มโครงการเคลื่อนพระธรรมนำสู่สังคม ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ด้วยหวังว่าหลักคำสอนในพุทธศาสนาจะประทับในใจพุทธศาสนิกชนแนบแน่นกว่าเดิม จากก้าวแรกขยับสู่ก้าวต่อมากับ โครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง เพราะเห็นว่าการถ่ายทอดความหมายที่ซ่อนอยู่ในสิ่งปลูกสร้างของวัดถือเป็นการเผยแพร่พระธรรมแก่นักท่องเที่ยวหรือชาวพุทธที่เข้ามาเยี่ยมชมวัดอีกทางหนึ่ง ซึ่งผลของความหวังดีจากการทำโครงการในบ้านเกิด และส่งต่อเรื่องราวเมืองน่านจากเรื่องราวในวัดพระธาตุแช่แห้งแก่ผู้มาเยือนได้ปลุก "สำนึกความเป็นพลเมืองน่าน" ให้รู้สึกทุกข์ร้อนต่อสถานการณ์เมืองน่านที่เปรียบดั่ง "บ้าน" ของตัวเอง "ในฐานะมัคคุเทศก์ เราจะบอกนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องภูเขาหัวโล้นว่า คนที่ทำแบบนี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องบุกรุกป่า เพื่อสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะภาระเรื่องการส่งลูกหลานเรียนหนังสือ และภูเขาหัวโล้นที่เขาเห็นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ถ้ามองในภาพรวมพื้นที่ป่าของจังหวัดน่านยังมีป่าไม้อยู่อีกเยอะ ส่วนที่เป็นภูเขาหัวโล้นตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้มีการปลูกป่า ทางไปดอยภูคาก็มีต้นไม้ตลอดเส้นทาง ไม่ใช่มีแต่เขาหัวโล้น" หลังจากได้รับโอกาสทำโครงการถึง 2 ครั้ง ทำให้สามเณรหนุ่ยอยากถ่ายทอดโอกาสแก่เยาวชนคนรุ่นต่อไป ในบทบาท "ครู" ด้วยหวังจะสร้างพลเมืองน่านรุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดประพณีวัฒนธรรมที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป สามเณรหนุ่ยบอกว่า "ตอนนี้ผมกำลังเรียนครุศาสตร์ ซึ่งการมาทำโครงการ 2 ปี ทำให้ผมได้เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนรับฟัง และการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ถือเป็นการพัฒนาตนเองสำหรับในอนาคตด้วย เพราะเราอาจจะเป็นครู ก็ต้องนำความรู้ตรงนี้ไปดึงศักยภาพของเด็กให้เขาใช้ทำประโยชน์ต่อไป" คล้ายกันกับ นุ่น-นิภาดา บุญท่วม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนปรางค์กู่ ที่สนใจศึกษา "ผ้าไหมลายลูกแก้ว" มรดกทางวัฒนธรรมของชาวกูย (ส่วย) แห่งบ้านขี้นาค ต.ตูม อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ใน โครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูย ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จนเธอและทีมเยาวชนได้รู้จักผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้น ทั้งประวัติความเป็นมา ครูภูมิปัญญาในชุมชน กรรมวิธีทำ และช่วงเวลาสวมใส่ ทำให้เกิดหนังสือรวบรวมองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว กระตุ้นคนในชุมชนให้หันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมมากขึ้น รวมทั้งทำให้เธอและเพื่อนภาคภูมิใจและรักความเป็นชาวกูยมากขึ้น แม้มีองค์ความรู้ แต่ถ้าขาดผู้ต่อยอด ความรู้นั้นก็อาจสูญหายไปพร้อมผู้รู้และกลาลเวลา นุ่นจึงสานต่อโครงการเพื่อสร้างเด็กและเยาวชนให้ขึ้นมาเป็นนักทอผ้ารุ่นใหม่ ผ่าน โครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค นุ่นบอกว่า "เรามีความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมลายลูกแก้วแล้ว แต่ว่าแค่รู้อย่างเดียวมันไม่พอ ต้องลองฝึกฝนทำเอง และเผยแพร่องค์ความรู้ที่รวบรวมมาได้ให้คนอื่นรับรู้ด้วย พวกเราจึงคิดว่า ถ้าชวนเด็กไปเรียนกับผู้รู้โดยตรง น่าจะสร้างนักทอผ้ามือใหม่ที่มีความสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง และเกิดการฟื้นฟูการทอผ้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น" ในที่สุดความตั้งใจกว่า 2 ปีของนุ่นและกลุ่มเยาวชนก็บรรลุผลเกิดเป็น "ห้องเรียนเรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว" ที่มีครูผู้สอนคือปราชญ์ชุมชน สามารถต่อความหวังของผ้าไหมลายลูกแก้วให้ยืนยาวขึ้น และสานสัมพันธ์คนหลายช่วงวัยที่เคยห่างเหินให้ฟื้นคืนกลับมา ขณะที่แกนนำอย่างนุ่นเอง ก็ความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าแสดงออก มีหัวใจที่รักและหวงแหนภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชุมชน จนเกิดแรงบันดาลใจจะสืบสานเรื่องนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต "ถ้าทอผ้าได้แล้ว เราคิดว่าอยากทอผ้า อยากมีร้านขายผ้า ออกแบบตัดเย็บทุกอย่างเอง จะได้มั่นใจว่าสามารถรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ได้จริงๆ" ทางด้าน จ.สมุทรสงคราม เมืองที่มีนิเวศน์ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้มีต้นทุนทางธรรมชาติและภูมิปัญญาการหาอยู่หากินที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเมื่อ แอล-วีรวรรณ ดวงแข แกนนำเยาวชนชุมชน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา ได้รู้จักกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ใช้พลังของตัวเองพัฒนาบ้านเกิด แอลกับแกนนำเยาวชนคนอื่น จึงเกิดความคิดจัดทำโครงการพาน้องเรียนรู้ชุมชน และปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อดึงเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากสิ่งยั่วยุที่ไม่ดี และสร้างคนแพรกหนามแดงรุ่นใหม่ที่รู้จัก "รากเหง้า" ของตัวเอง ผลการทำโครงการดังกล่าวช่วยปลูกฝังจิตสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่นแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนได้สำเร็จ รวมทั้งทำให้แกนนำโครงการเองตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เป็นเหตุให้แอลต้องการขยายผลในโครงการพาน้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง โดยตั้งใจจะนำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า เพื่อให้คนในชุมชนเห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะทำให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด "ถ้าคนในชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคนดั้งเดิมหรือคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่เพื่อทำมาหากิน ต่อให้นำทรัพยากรมาทำประโยชน์แต่เขาจะใช้ด้วยความรัก ด้วยการปลูกใหม่ขึ้นมาทดแทนเพื่อช่วยรักษาไม่ให้หมดไป มันจะไม่มีทางหมดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้นเพราะทุกคนรู้และร่วมมือกัน" จากความหวังดีที่แอลมีต่อชุมชน และทุ่มเทมาตลอด 2 ปี ได้เปลี่ยนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนให้หันมามองสิ่งที่ดีๆ ที่มีในชุมชนมากกว่าที่เคยเป็น ที่สำคัญกว่านั้นคือเปลี่ยนหัวใจของแอลให้เลือกลงหลักปักฐานเป็นพลังของแพรกหนามแดงตลอดไป "จากเดิมที่ไม่รู้ไม่เคยสนใจ ตอนนี้รู้สึกว่าบ้านเราน่าอยู่นะ เราไม่ต้องออกไปอยู่ข้างนอก ไม่ต้องไปหางานทำในเมืองก็ได้" ไม่ต่างจาก แบมะ-มูฮำหมัด กะอาบู บัณฑิตจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตปัตตานี ที่เคยเข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาปี 3กับสงขลาฟอรั่ม ในนามโครงการสานพลังต่อต้านบุหรี่ เพราะเห็นว่าแนวโน้มนักสูบหน้าใหม่ในชุมชนกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ได้ทำให้เด็กกลุ่มเสี่ยงหันเหไปเล่นกีฬาแทนการรวมกลุ่มมั่วสุม และเป็นเชื้อไฟให้ชาวบ้านสนใจพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น เมื่อเห็นช่องทางการสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวมจากการพาตัวเองไปเป็นผู้ทำโครงการ แบมะซึ่งเรียนจบและก้าวเข้าสู่วัยทำงาน จึงชักชวนรุ่นน้องในชุมชนให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อบ้านเกิดที่บ้านตันหยงลุโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เช่นเดียวกับเขา ในโครงการเกลือหวานตานีเพื่อรักษาภูมิปัญญาการทำนาเกลือและนาเกลือผืนสุดท้ายแห่งสมุทรมลายู และ โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ ที่จะจัดระเบียบชุมชนให้น่าอยู่น่ามองมากขึ้น "น้องๆ จะเห็นพวกผมทำโครงการหรือกิจกรรมในชุมชนมาตลอด ทำให้เขาเห็นเราเป็นไอดอล และอยากทำตามบ้าง พอดีกับที่โครงการของสงขลาฟอรั่มซึ่งผมเคยร่วมกำลังเปิดรับโครงการ เราก็ชวนน้องส่งโครงการเลย 2 กลุ่ม เด็กโตระดับมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง และเด็กมัธยมอีกกลุ่มหนึ่ง" เหตุผลที่แบมะชอบทำงานอาสาพัฒนาชุมชน เขาบอกว่าตัวเองเกิดและอยู่ในชุมชน พอเห็นชุมชนไม่เรียบร้อยหรือใครมาทำอะไรไม่ดีในชุมชนก็จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นแบบนี้ เขาจึงลุกขึ้นมาเริ่มทำกิจกรรมเพื่อชุมชนร่วมกับเพื่อนตั้งแต่ชั้นม.4-5 แต่พอได้มาทำโครงการกับทางสงขลาฟอรั่ม เขาพบว่าโครงการนี้ให้อิสระทางความคิดและโอกาสลงมือทำเต็มที่ ต่างจากโครงการอื่นที่ผู้ใหญ่มักเป็นคนคิด แล้วให้เด็กแค่ลงมือ นอกจากนั้นยังมีพี่เลี้ยงที่เป็นดั่ง "โคช" แนะแนวทางให้เด็กและเยาวชนรู้จักและสามารถทำงานได้เป็นกระบวนการมากขึ้น ซึ่งทำให้โครงการเดินไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ แบมะกล่าวทิ้งท้ายถึงวิสัยทัศน์ของตัวเองที่ก้าวเดินบนเส้นทางงานเพื่อส่วนรวมมาตลอด และปรับตัวเองจากเด็กที่ลงมือทำกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สนับสนุนให้เด็กทำว่า "เราเป็นคนที่รักบ้านเกิดตั้งแต่ไหนแต่ไร มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง และมองว่าการพัฒนาโดยเริ่มจากคน คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าความคิด สติปัญญา และจิตสำนึกของคนพัฒนา เกิดสำนึกในการจะทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชน ชุมชนนั้นย่อมดีขึ้น ซึ่งวิธีการนี้ต้องเริ่มที่เด็กก่อน แล้วเขาจะไม่ทิ้งบ้านเกิดไปไหนและกลายมาเป็นกำลังหลักของชุมชน เหมือนกับผมที่ไม่เคยมีความคิดจะย้ายออกไปอยูที่อื่นเลย ถึงคนภายนอกอาจมองว่าที่นี่มีเหตุการณ์รุนแรง แต่สำหรับเรานี่คือบ้านที่จะปกป้องเราจากอันตรายทั้งปวงและเป็นที่ที่อบอุ่นที่สุด"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ