Chevron Enjoy Science ผนึก 12 กลุ่มมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายพัฒนา “คนต้นน้ำด้านการศึกษา” รูปแบบใหม่ ยกระดับสะเต็มศึกษาแบบครบวงจร

ข่าวทั่วไป Monday March 13, 2017 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ริพเพิล เอฟเฟคท์ เชฟรอน-คีนัน ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต จับมือ 12 กลุ่มมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรยกระดับสะเต็มศึกษา พัฒนา "คนต้นน้ำ" ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา - ศึกษานิเทศก์ - ครูพี่เลี้ยง - ครูประจำการ และครูฝึกสอน พร้อมจัดตั้ง STEM HUB 12 แห่ง เพื่อเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และ ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รศ.นพ. โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ นับเป็นความท้าทายของประเทศในการเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศเพื่อพัฒนาทักษะเด็กไทยให้ก้าวทันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญตามที่ภาครัฐได้กำหนด คือ "มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง" เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาครูของโรงเรียนทุกระดับการศึกษารวมทั้งชุมชน การลงนามความร่วมมือระหว่าง 12 กลุ่มมหาวิทยาลัยกับโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในครั้งนี้จึงถือเป็นการดำเนินตามแนวทาง "รัฐร่วมเอกชน" ของรัฐบาลและเป็นการวางรากฐานพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อยกระดับสะเต็มศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรสะเต็มศึกษาที่เข้มแข็ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีทุนด้านทรัพยากรบุคคลและทุนทางสังคมสูง การเข้ามาเป็นหลักในการระดมความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และท้องถิ่น จึงถือเป็นการพัฒนา "คนต้นน้ำด้านการศึกษา" ครอบคลุมตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูพี่เลี้ยง ครูประจำการ และครูฝึกสอน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและยกระดับการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การบูรณาการความคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข คือ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือ การสร้างความเท่าเทียมระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ โรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งรูปแบบ "รัฐร่วมเอกชน" จะสามารถตอบโจทย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพราะการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนคงไม่สามารถผลักให้เป็นหน้าที่ภาครัฐฝ่ายเดียวได้ จึงเป็นที่มาความร่วมมือกับ 7 องค์กรภาครัฐ และภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาในการดำเนินโครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา 2 ปี ได้รับความร่วมมือจากองค์กร และหน่วยงานการศึกษาในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี กระทั่งปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์สะเต็ม (STEM HUB) แล้ว 5 แห่ง คือ ที่จังหวัดสงขลา สมุทรปราการ ขอนแก่น เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช โดยมีแผนจะขยายอีก 7 แห่งจนครบตามเป้าหมาย 12 แห่ง ในปีที่ 3 นี้ ด้านนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ผลจากการตั้งศูนย์สะเต็ม ทำให้วันนี้เริ่มเกิดการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยมีศูนย์สะเต็มผสานกับมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงสู่โรงเรียน แม่ข่ายและลูกข่าย ช่วยกระตุ้นให้เกิดการติดตาม ประเมินผล และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันขึ้น เห็นได้จากที่ครู เริ่มมีการแบ่งบทบาทหน้าที่แลกเปลี่ยนวิธีใช้หลักสูตรและอุปกรณ์ ขณะที่มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงซึ่งเป็นจุดตั้งศูนย์สะเต็ม ก็เข้ามาสนับสนุนแนะนำการสอนเพิ่มเติม ทำให้สร้างการมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาท้องถิ่น พร้อมกับการกระตุ้นให้ครูปรับการเรียนการสอนให้เด็กเกิดความสนุกและคิดเป็นมากขึ้น "เป้าหมายโครงการฯ ไม่ได้มุ่งพัฒนาเด็กให้ "เก่งแบบเป็นเลิศ" เฉพาะกลุ่ม แต่มุ่งยกระดับการศึกษาในภาพรวม โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาครู และเครือข่ายโรงเรียนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะมีส่วนช่วยพัฒนา "คน" ให้ตอบโจทย์ประเทศที่กำลังก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0" นายปิยะบุตรกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ