สพฉ.เตือนประชาชนระวังภัยจากการถูกฟ้าผ่าในช่วงของการเกิดพายุฤดูร้อน

ข่าวทั่วไป Thursday March 23, 2017 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 สพฉ.เตือนประชาชนระวังภัยจากการถูกฟ้าผ่าในช่วงของการเกิดพายุฤดูร้อนระหว่างวันที่ 14-19 มี.ค.นี้ ระบุปี 59 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยฉุกเฉินจากภัยสิ่งแวดล้อมมากกว่า 3 พันคน พร้อมแนะวิธีเอาตัวรอดจากการถูกฟ้าผ่าไม่โทรศัพท์ ไม่อยู่ใต้ต้นไม่ใหญ่ พร้อมชวนดาวน์โหลดคู่มือป้องกันภัยพิบัติไปศึกษาก่อนเกิดภัย ภายหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกให้เตรียมรับมือกับกับพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 14-19 มีนาคม 2560 นี้ ล่าสุดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกคำเตือนให้ประชาชนในบริเวณภูมิภาคดังกล่าวเตรียมรับมือกับภัยเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจจะมากับพายุฤดูร้อนดังกล่าวนี้ด้วย โดย ร.อ.นพ. อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติกล่าวว่า จากคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะต้องฟังประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อให้ปลอดภัยจากพายุฤดูร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่ตนอยากเน้นให้ประชาชนระมัดระวังเป็นพิเศษคือภัยหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นกับการถูกฟ้าผ่า ซึ่งจากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยถูกนำส่งโรงพยาบาลจากอาการฉุกเฉินวิกฤตที่มีสาเหตุจากภัยสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าช๊อต และหัวใจหยุดเต้น ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวเนื่องจากการถูกฟ้าผ่ามากถึง 3,066 คน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนควรศึกษาข้อมูลในการป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากภาวะดังกล่าวนี้ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางในการป้องกันตนเองจากฟ้าฝ่าในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อนนั้นประชาชนสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ หากอยู่ในที่โล่งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการหลบบริเวณใต้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่ได้ยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ หากหาที่หลบไม่ได้ไม่ได้ให้หมอบนั่งยองๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าทุกชนิด อาทิ เงิน ทอง นาค และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สายไฟ หรือการสัมผัสน้ำโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงจุดที่ไฟสามารถวิ่งเข้าถึงได้ผ่านทางสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ และท่อน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว และควรถอดสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม ก่อนเกิดฝนฟ้าคะนอง อย่าทำเมื่อเกิดฟ้าคะนองแล้ว ที่สำคัญอย่าใช้โทรศัพท์เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งมาตามสายโทรศัพท์และทำอันตรายผู้ใช้โทรศัพท์ได้โดยตรงได้ ส่วนประชาชนท่านใดที่อยู่ในรถเมื่อเกิดฟ้าผ่า ควรจอดรถและ อย่าสัมผัสส่วนที่เป็นโลหะปิดหน้าต่างทุกบาน ไม่จอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรีในขณะที่ฝนตกโดยเด็ดขาด หากประชาชนปฏิบัติตามนี้ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงจากภัยฟ้าผ่าได้ ร.อ.นพ. อัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมในกรณีที่เราพบเห็นผู้ป่วยจากการถูกฝ้าผ่าว่า หากเราพบผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกฟ้าผ่า ควรปฏิบัติดังนี้ 1. รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 2. ให้สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูฟ้าผ่าซ้ำ3. เราสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูดไปด้วย 4. หากผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บหมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว หัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่พบ หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ โดยจัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง จากนั้นให้ผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือลงไปตามแนวกึ่งกลางของหน้าอกหรือกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วยแล้วนำมืออีกข้างมาประกบ ประสานนิ้วและทำการล๊อคนิ้ว กระดกข้อมือขึ้นลง โดยให้สันมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น จากนั้นโน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย แขนตรงและดึง ออกแรงกดลงไปโดยใช้แรงจากหัวไหล่ กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้สันมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วยตลอด ด้วยความเร็ว 100 ครั้งต่อหน้าที เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยที่มาจากพายุฝนนั้นมีหลากหลายกรณี การที่ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมการรับมือภัยพิบัติต่างๆ ได้นั้นจะลดอัตราการเสียชีวิตการบาดเจ็บหรือป่วยฉุกเฉินได้ และที่สำคัญที่สุดหากเราพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกๆ กรณีก่อนที่เราจะเข้าให้การช่วยเหลือให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้รีบจัดส่งรถและคนเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันเวลา นอกจากนี้แล้วในเรื่องของการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัตินั้นที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) จัดทำคู่มือความรู้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุด "รู้แล้วรอด" ขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในช่วง ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยยึดหลักการศึกษาผสมผสานควบคู่ไปกับความบันเทิง ด้วยการสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันโดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดชุดคู่มือ "รู้แล้วรอด" ได้ที่http://www.niems.go.th/th/DownloadFile.aspx?CateType=DataService&ContentId=25590610032429123

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ