มรภ.สงขลา จัดอบรมเรียนรู้ระบบเกษตรยั่งยืน แนะแนวอาชีพ-ลดการพึ่งพาปัจจัยผลิตภายนอก

ข่าวทั่วไป Monday April 3, 2017 09:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มรภ.สงขลา ดึงเกษตรกร-นักเรียนมัธยม 5 จังหวัดชายแดนใต้ อบรมระบบเกษตรยั่งยืน แนะแนวทางสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ชุมชน ลดการพึ่งพาปัจจัยผลิตจากภายนอก ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมระบบเกษตรยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการทำเกษตรแบบยั่งยืนให้แก่นักเรียนมัธยม เกษตรกร และผู้สนใจในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ กว่า 2,000 คน โดยจัดออกเป็นกิจกรรมย่อยๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปอาหาร การเพาะเห็ด การผลิตสัตว์เศรษฐกิจ การผลิตสัตว์น้ำ การผลิตพืช เกษตรยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของอาจารย์ก็สามารถต่อยอดความรู้ที่ได้สู่หนังสือ ตำรา หรือบทความวิจัยต่อไปได้ ถือเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชนในฐานะที่คณะเทคโนโลยีการเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่ พึ่งพาของชุมชนด้านการเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างเกียรติภูมิตามเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ดร.มงคล กล่าวว่า ประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ปลูกพืชผัก ผลไม้ ประมง เลี้ยงสัตว์ เช่น โค แพะ และการแปรรูปผลผลิตในรูปแบบต่างๆ ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ประสบปัญหา คือ ขาดความรู้และทักษะทางวิชาการ ทำให้มีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของเกษตรกรรมยั่งยืน จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่ความสุขสงบในท้ายที่สุด ซึ่งการส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนเป็นกิจกรรมหนึ่งในการพัฒนาเกษตรกร โดยนำระบบการทำการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลของมิติเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ เพื่อช่วยฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในไร่นา ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้มากที่สุด มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และมีผลตอบแทนที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า การลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และกระจายการพัฒนา จะทำให้คนไทยในทุกส่วนของประเทศได้รับประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ การเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาเพื่อสร้างอาชีพและการมีงานทำ จะต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่าง คน ชุมชน และพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา สร้างอาชีพและการมีงานทำ เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ