นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักค่าจ้างลูกจ้างหรือยึดบัตรประชาชนมีโทษหนัก

ข่าวทั่วไป Monday April 10, 2017 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจงข้อกฎหมายนายจ้างนำค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย หรือค่าใช้จ่ายอื่นมาหักจากเงินค่าจ้างของลูกจ้าง หรือยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานไม่ได้ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า จากกรณีมีข่าวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบางส่วนถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าเช่าห้อง ถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานนั้น นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต่างๆ ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายใดๆ มาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่การหักเพื่อ 1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ 2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง 4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และ 5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักเงินจากลูกจ้างทั้ง 5 ประเภท ที่กล่าวข้างต้นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับ และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเท่านั้น จึงจะหักเงินทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวข้างต้นได้ การที่นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักจากค่าจ้าง มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อธิบดี กสร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้ โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยถือว่านายจ้างมีความผิด เพราะนายจ้างไม่สามารถยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างได้ 3 ประเภท คือ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งการเรียกหลักประกันจะต้องไม่เกินวงเงิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างได้รับ การที่นายจ้างยึดบัตรประชาชนไว้เป็นหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย ถูกยึดบัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักประกันการทำงาน สามารถร้องเรียนและเรียกร้องสิทธิประโยชน์คืนได้ โดยติดต่อที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 , สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ