ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยื่น5 ข้อเสนอพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยในงานปิดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 11

ข่าวทั่วไป Tuesday April 11, 2017 23:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยื่น5 ข้อเสนอพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยในงานปิดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 11 พร้อมเสนอติดตั้งระบบ GPS ในรถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและทันท่วงที ขณะที่ รมว.สธ. เน้นย้ำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการทำงานของสายด่วน 1669 พร้อมเปิดสถิติ ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนมากถึง 1.4 ล้านครั้ง ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คฟอรั่มเมืองทองธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดพิธีปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ "สืบสานพระราชปณิธาน รวมใจเพื่อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยสู่เวทีโลก" ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่29 มีนาคม – 31 มีนาคม 2560 โดยพิธีปิดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เข้าร่วมเป็นประธาน พร้อมร่วมมอบเข็มเชิดชูเกียรติประเภทกิตติมศักดิ์ ประเภทสมนาคุณ และประเภทสรรเสริญ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 581 คนอีกด้วย นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ได้สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังพระราชดำรัสว่า "ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรมก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติก็คือพลเมืองนั้นเอง" ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้มุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยในสภาวะปกติ โดยเฉพาะงานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นงานที่ก่อกำเนิดมาจากการมีจิตอาสาของประชาชน ในรูปแบบมูลนิธิต่างๆ ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นแกนหลัก บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยภาครัฐ เอกชน ประชาชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ทำให้งานด้านนี้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ปัจจุบัน มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งหมด 8,669 ชุด ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 5,605 ชุด ภาครัฐ 1,947 ชุด เอกชน มูลนิธิ/สมาคม 846 ชุด เอกชน 227 ชุด และอื่น ๆ 44 ชุด มีผู้ปฏิบัติงาน86,105 คน และในปี 2559 มีผู้ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนมากถึง 1.4 ล้านครั้ง ขณะที่ เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ.ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติเป็นประจำทุกปี ซึ่งครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 ในหัวข้อ "สืบสานพระราชปณิธาน รวมใจเพื่อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยสู่เวทีโลก" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉินและสนับสนุนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสร้างโอกาสการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์สำหรับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติการ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติการ และหน่วยปฏิบัติการที่มีผลงานดีเด่นซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ผู้ปฏิบัติการและหน่วยงานปฏิบัติการที่มีผลงานดีเด่น ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับหน่วยงานและหน่วยปฏิบัติการต่อไป ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการประชุม 3 วัน เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่ายและผู้สนับสนุนอาทิผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผู้ปฏิบัติการมูลนิธิ อปท. และบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ทำให้การประชุมครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ นอกจากนี้ภายในงานภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการ พัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อดังนี้ 1. ขอให้สร้างการมีส่วนร่วมและตระหนักรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชนโดยเน้นการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมใน "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่" 2.ขอให้สนับสนุนให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับได้รับการพัฒนาขีดความสามารถสู่มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตไปถึงที่หมายอย่างปอลดภัยและทันท่วงที 3. ขอให้กำหนดโครงสร้างอัตรากำลังของนักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นตำแหน่งที่มั่นคงในระบบกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงส่งเสริมให้ตั้งสมาพันธ์ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิในระหว่างปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 4. ขอให้พัฒนาระบบบริการในห้องฉุกเฉินทุกมิติเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดความรุนแรงของอาการ ลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยและคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ 5. ขอให้มีการจัดตั้งกรอบโครงสร้างอัตรากำลังกลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัยในสำนักสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตอบสนองนโยบายและควบคุมกำกับติดตามงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินและสาขาที่เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 2,500 คน และมีการปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การเสวนา การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางการแพทย์และมีการจัดประกวดผลงานวิชาการและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยรางวัลผลงานวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น ประเภทนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ได้แก่ นวัตกรรม เจลประคบเย็นลดปวดจากยางมะกอกป่า จากโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เชียงราย รางวัลผลงานวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินระดับชมเชย ประเภทนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ได้แก่ การพัฒนาหุ่นช่วยฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Model CPR Never Die) ของนักเรียนจ่าอัชฌา ดาษพันธ์ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ นวัตกรรมรถยกถังออกซิเจน (Easy Oxy-Transfer) นางมยุรี เหมือนเดช โรงพยาบาลสมุทรปราการ นวัตกรรมเครื่องดูดเสมหะขนาดพกพา(Handy Suction)นักเรียนจ่าจิรวัฒน์ ชมภู โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ
แท็ก gps  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ