ปภ.รายงานภาพรวม 8 จังหวัดภาคเหนือมีคุณภาพอากาศในระดับปานกลาง ขณะที่จังหวัดลำปางมีปริมาณหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ประสานจังหวัดคุมเข้มการเผาอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 12, 2017 10:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ณ วันที่ 12 เมษายน 2560 เวลา 06.00 น. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน มีค่าระหว่าง 55 - 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 60 - 105 ในภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจังหวัดลำปางมีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสาน 9 จังหวัดภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ริมทางหลวงอย่างเคร่งครัด เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 เวลา 06.00 น. พบว่า พื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 55 - 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 60 - 105 ในภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมี 8 จังหวัดที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก ขณะที่จังหวัดลำปางมีปริมาณฝุ่นละอองในอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่า 105 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อย่างเข้มข้น โดยใช้กลไก "ประชารัฐ" ขับเคลื่อนการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ พร้อมจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและอำเภอเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดกำลังอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่าและเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ เน้นการ บังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบจุดไฟเผา พื้นที่เกษตรกรรม ให้กำหนดช่วงเวลาและจัดระเบียบการเผา ประกาศเขตห้ามเผา ส่งเสริมการจัดทำแนวกันไฟ และรณรงค์การไถกลบแทนการเผา ส่วนพื้นที่ริมทางหลวง ให้เฝ้าระวังการเผาในเขตริมทางหลวงอย่างเข้มข้น อีกทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการระงับไฟป่า ระดมรถบรรทุกน้ำและเครื่องมือฉีดพ่นน้ำ เพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมประชาสัมพันธ์ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และข้อมูล คุณภาพอากาศ รวมถึงคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุมให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากเจ็บป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควัน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ