กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลการดำเนินงานสัปดาห์ตรวจเข้มสินค้าเกษตรปลอดภัย ระหว่างวันที่ 1 – 7 เม.ย. 60 สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคก่อนเทศกาลสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Monday April 17, 2017 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน และเพื่อปกป้องสุขภาพของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบสินค้าเกษตรในตลาดสดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 - 7 เม.ย. 2560 และเพิ่มการตรวจในวันที่ 8 เม.ย. 2560 เฉพาะส่วนกลางในพื้นที่ กทม. ด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ สินค้าประมง และสินค้าเกษตรด้านพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและปศุสัตว์อย่างแท้จริง โดยได้ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่น บูรณาการงานตรวจสอบสินค้าเกษตร โดยลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ผัก ผลไม้ สินค้าประมง และเนื้อสัตว์ ณ สถานที่จำหน่ายที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร จากหน่วยงานของของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง "สินค้า Q" และ "ปศุสัตว์ OK" นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้สุ่มตรวจสินค้าทั่วประเทศ ในตลาดสด 539 แห่ง โดยเก็บตัวอย่าง 1,617 ตัวอย่าง ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อสุกร และเนื้อโค นอกจากนี้ยังตรวจใบอนุญาตในการตั้งเขียงหรือสถานที่จำหน่าย และสุขลักษณะของสถานที่จำหน่าย โดยผลการตรวจเบื้องต้น พบว่า ในเรื่องของใบอนุญาต มีใบอนุญาตทั้งหมด 97%และในส่วนที่เหลือพบว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีการเลี้ยงสัตว์และนำมาจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นการยกเว้นที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ สำหรับการประเมินด้านสุขลักษณะภายนอกของสถานที่จำหน่าย ผ่านเกณฑ์ 96% โดยในส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้มีการชี้แนะให้ปรับปรุงเรียบร้อย ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาสารตกค้าง (ยาปฏิชีวนะ/สารเร่งเนื้อแดง) จะเสร็จในอีก 2 – 3 วัน ในเบื้องต้นได้ตรวจด้วยชุดทดสอบ (Test Kit) ไม่พบยาปฏิชีวนะ และสารเร่งเนื้อแดง ที่พบมีเพียงแบคทีเรียทั่วไปที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ด้าน นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด้านการตรวจในส่วนของพืช ได้ตรวจตลอดทั้งปี 9,483 ตัวอย่าง โดยมีหลักเกณฑ์จากผลการติดตามที่ผ่านมาว่าพืชชนิดใดมีความเสี่ยงสูง ก็จะใช้พืชตัวนั้นในการสุ่มตัวอย่าง รวมถึงผลการแจ้งเตือนจากต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลเครือข่ายจากภาคประชาสังคมที่มีความกังวลต่อสินค้านั้น ๆ มาเป็นตัวกำหนดชนิดที่จะใช้สุ่มสินค้าเกษตร ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาโดยตลอด โดยเฉพาะในหน้าฝนจะมีการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์จุลินทรีย์ด้วย โดยสำหรับการสุ่มตรวจในครั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างพืชผัก จำนวน 88 ตัวอย่าง ตัวอย่างผลไม้ จำนวน 45 ตัวอย่าง จะนำเข้าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาสารตกค้างทั้งหมด นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงจะดูจากการส่งออก การร่วมกับสมาคมแช่เยือกแข็ง โดยบริษัทที่เป็นสมาชิกจะตรวจสัตว์ก่อนนำเข้า และการตรวจในภาพรวม ซึ่งเป็นการสุ่มทั่วประเทศ ซึ่งจากการสุ่มตรวจระหว่างวันที่ 1 – 7 เม.ย. 60 ที่ผ่านมา ได้สุ่มตรวจในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา สุราษฏร์ธานี พังงา พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี และเชียงใหม่ มีการตรวจใน 2 ส่วน คือ ฟอมาลิน จำนวน 85 ตัวอย่าง ตรวจพบ 2 ตัวอย่างในสินค้าปลาหมึก ส่วนการตรวจสารตกค้าง ยังไม่พบสารตกค้าง และยังเหลือตัวอย่างในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารตกค้างอีกไม่มาก ซึ่งคิดว่าไม่น่ามีสารตกค้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ