กกพ. ชี้แจงผลการพิจารณาค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 60 ย้ำสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 3, 2017 15:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สำนักงาน กกพ. นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้แจงกรณีที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 ที่ -24.77 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว (ม.ค.-เม.ย. 60) เท่ากับ 12.52 สตางค์ต่อหน่วย จนเกิดกระแสข่าวถึงสาเหตุใดที่ทำให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือในเรื่องการแบกภาระการรับซื้อพลังงานทดแทนที่มากเกินไป ซึ่งประเด็นข้อสงสัยนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ "กกพ. ขอตอบข้อสงสัยในประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติว่า ราคาก๊าซปากหลุมจากอ่าวไทยในช่วงต้นปี เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงขาลงจริง แต่ราคาก๊าซจะอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง ประมาณ8 – 12 เดือน ราคาก๊าซจึงมีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ดังนั้น ในช่วงเดือนเมษายน – สิงหาคม จึงเป็นช่วงขาขึ้นของราคาก๊าซ นอกจากนั้น ราคาก๊าซที่นำไปคิดค่าไฟฟ้า กกพ. ต้องดูราคาก๊าซทั้งหมด ที่เรียกว่า ราคาพูล (Pool) ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนม่า รวมถึงนำเข้า LNG และก๊าซจากแหล่งบนบกในประเทศ เช่น น้ำพอง หรือลานกระบือ ซึ่งราคาพูล (Pool) ที่ใช้คำนวณเป็นช่วงขาขึ้นเท่ากับ 210 บาท/ล้านบีทียู ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2560 ซึ่งเมื่อรวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการจัดหาด้วย จึงทำให้ราคาในการใช้คำนวณอยู่ที่ 244.55 บาท/ล้านบีทียู ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.35 บาท/ล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 จากช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2560" นายวีระพล กล่าว สำหรับตัวเลขราคาน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลที่ไม่ตรงกัน เนื่องมาจากในข่าวประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่รวมถึงเอกชน IPPs และ SPPs ด้วย แต่ในส่วนของเอกสารรับฟังความคิดเห็นเป็นเฉพาะของ กฟผ. เท่านั้น จึงทำให้ค่าที่แสดงแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐในส่วน Adder และ FiT ในเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 388.32 ล้านบาท มาอยู่ที่ 13,536.41 ล้านบาท ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน เนื่องจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 สูงขึ้น ดังนั้น เมื่อเทียบเป็นอัตราต่อหน่วยแล้วทำให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 ลดลงจากงวดที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ค่าเอฟทีในงวดนี้ลดลง 1.20 สตางค์ต่อหน่วย และในกรณีที่หลายคนเข้าใจว่าค่าบริการรายเดือนและเงินประกันการใช้ไฟฟ้ามีผลต่อการคิดคำนวณค่าเอฟที นับว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากค่าบริการรายเดือน เป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ส่วน ได้แก่ การจดหน่วยไฟฟ้า การพิมพ์และจัดส่งบิล การรับชำระ และการบริการลูกค้า ซึ่งค่าบริการนี้ทาง กกพ. ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 38.22 บาท/ราย/เดือน แต่เรียกเก็บบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก (ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน) เพียง 8.19 บาท/ราย/เดือน ซึ่งได้รับการอุดหนุนอยู่ และสำหรับบ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ จะเรียกเก็บที่ 38.22 บาท/ราย/เดือน ตามต้นทุนจริง สำหรับในส่วนของเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นการให้บริการไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นการใช้ไฟฟ้าไปก่อนแล้วจึงมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้ กกพ. ได้กำกับดูแลให้การไฟฟ้าต้องจ่ายคืนผลประโยชน์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในกรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้าได้เริ่มจ่ายคืนดอกผลให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วในปี 2556 และ 2557 และกรณีที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กจะทำการจ่ายคืนดอกผลทุก 5 ปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 โดยการไฟฟ้าจะเริ่มจ่ายคืนดอกผลให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรกในปี 2563 ดังนั้น ค่าบริการรายเดือนและเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคิดคำนวณต้นทุนค่าเอฟทีแต่อย่างใด "อย่างไรก็ตาม จากการที่ กกพ. ได้พิจารณาขึ้นค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 นี้ กกพ.ได้พิจารณาถึงปัจจัยและผลกระทบที่จะส่งผลต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างรอบคอบแล้ว เนื่องจากถ้าไม่พิจารณาปรับค่าเอฟทีขึ้นในงวดนี้ จะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟทีในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 60 ให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่างวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 60 และหากกรณีที่ กกพ. ตรึงค่าเอฟทีงวดนี้ จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระคิดเป็นเงินจำนวนประมาณ 7,786 ล้านบาท และในที่สุดแล้วผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องจ่ายค่าไฟในส่วนนี้คืนแก่ กฟผ. ภายหลัง" นายวีระพล กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ