FoodMarketExchange.com ร่วมกับนิตยสารอี-คอมเมิร์ซ, กรมประมง,และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์จัดสัมมนา " ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ "

ข่าวทั่วไป Wednesday July 11, 2001 15:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
FoodMarketExchange.com ร่วมกับนิตยสารอี-คอมเมิร์ซ , กรมประมง, และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ จัดสัมมนาครั้งใหญ่ " ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ " เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรกรรม กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ชี้ e-Commerce มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทยดีขึ้น เนื่องจากสามารถเพิ่มช่องการตลาดใหม่ให้เข้ากับศักยภาพภูมิปัญญาธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรไทยในโลกดิจิตอล
นายไซมอน ชาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องภายใต้ชื่อเว็บไซต์ FoodMarketExchange.com เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับนิตยสาร อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce Magazine) จัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ในหัวข้อ "ก้าวสู่โลกอี-คอมเมิร์ซ" โดยได้รับความร่วมมือจากกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
งานสัมมนาดังกล่าว นอกจากจะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มของ อี-คอมเมิร์ซ ในตลาดโลกที่เข้ามามีบทบาทต่อการแข่งขันทางการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) แล้ว ยังจะให้ความรู้ทางด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ระบบ Value Chain, Supply Chain Management ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับกระบวนการจัดซื้อจัดหาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) และความสัมพันธ์ต่างๆ ในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
นายไซมอน กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทฯ เนื่องจากเรื่องการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ประกอบกับผู้ประกอบการทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ยังมีความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจน้อยมาก ดังนั้น ในปีนี้ FoodMarketExchange.com จึงจะเน้นเรื่องการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ตลอดจนเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ โดยมีแผนจะจัดสัมมนาสัญจรทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย
ดร.เดชานุชิต กตัญญูทวีทิพย์ กรรมการและที่ปรึกษาผู้บริหารอาวุโส บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของ Supply Chain Management (SCM) ว่า ปัจจุบัน SCM ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กรเท่านั้น แต่จะเชื่อมต่อองค์กรอื่นๆ เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบ/สินค้า บริษัทผู้จัดจำหน่าย เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ e-Commerce และ e-Business และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะ SCM จะเป็นที่มาของความสำเร็จในศตวรรษใหม่นี้
นายพิชัย ตรรกบุตร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษระบบข้อมูลการพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กล่าวว่า ข้อมูล e-Commerce เป็นกระบวนการซื้อขายสินค้าบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Internet มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรกรรมอย่างมากในปัจจุบันจนถึงอนาคต ดังจะเห็นได้ว่า ตลาดหลักส่งออกของไทย คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้เร่งรัดพัฒนาการตลาดอาหารและสินค้าเกษตรผ่าน e-Farm bureau (fb.org), e-Europe (agrimine.com) เพราะ e-Commerce มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทยสามารถเพิ่มช่องการตลาดใหม่เข้ากับศักยภาพภูมิปัญญาธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรในโลกดิจิตอล
ทั้งนี้ ผู้จะริเริ่ม e-Commerce ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนเอง ในด้านลูกค้าเดิมและพันธมิตรทางการค้าระหว่างนักธุรกิจกับเกษตรกร และภาครัฐ รวมทั้งมีข้อมูลพื้นฐานเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่มีคุณภาพ การเงิน การบัญชีที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้และมีการตลาดที่กว้างไกล เป็นยุคดิจิตอลที่ผู้ผลิต-ผู้ค้า-ผู้บริโภคเริ่มซื้อขายสินค้าและบริการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Internet กันอย่างแพร่หลายครอบคลุมไปทั่วโลก
หากจัดอันดับปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ต 10 ประเทศ จากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด จะพบว่า โซเวียตจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด รองลงมาคือ ฮ่องกง, โปแลนด์, สวีเดน, เบลเยี่ยม, ไทย, ไต้หวัน, เยอรมัน, สเปน, และเนเธอแลนด์ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีการใช้อินเตอร์เน็ตถึง 1.5 ล้านคน เท่ากับว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการนำ e-Commerce มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากในกติกาสากลของการค้าเสรีนั้น การเปิดตลาดอุตสาหกรรมอาหาร เป็น 1 ใน 5 ของข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการกองสารสนเทศทรัพยากรประมง กรมประมง กล่าวว่า e-Commerce จะเอื้อประโยชน์ต่อของการประมงในการเพิ่มโอกาสทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ให้เกิดความสะดวกสำหรับการซื้อขาย ช่วยแก้ปัญหาการตลาดทั้งการขยายตลาดและค่าการตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนให้เกิดการรวมตัวกันพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยส่วนของภาครัฐ สามารถให้การสนับสนุนเรื่องข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลวิชาการ ข้อมูลอุตสาหกรรมและการส่งออก การตลาด และการลงทุน ส่วนเอกชนควรสนับสนุนให้เกิด e-Commerce โดยการส่งเสริมให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศเข้ามาซื้อสินค้าผ่านเครือข่าย Internet และร่วมพัฒนาข้อมูลต่างๆที่ลูกค้า จำเป็นต้องรู้เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับคู่แข่งทั่วโลกอย่างแท้จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่ออรนุช เตชอภิรักษ์ หรือ ดุสิต ไตรยปัญจวิทย์ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัดโทร. 298-0345 ต่อ 531-532 โทรสาร 298-0332 วรรณี ลีลาเวชบุตร หรือ ลัคคณา ขวัญงามบริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด (ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์)โทรศัพท์ 861-0881 ต่อ 17-20 โทรสาร 438-4427--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ