“อุตตม” ลงพื้นที่เชคความคืบหน้านิคมฯยางพารา จังหวัดสงขลา

ข่าวทั่วไป Wednesday May 31, 2017 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย "อุตตม" พร้อมด้วย "ประธานบอร์ด กนอ." ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านิคมฯยางพารา จังหวัดสงขลา เผยงานก่อสร้างรุดหน้ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มั่นใจแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการนักลงทุนปี 61 เดินหน้าโครงการ กนอ. สานพลังประชารัฐ เปิดโรงงานมาตรฐานเพส 2 ตอบโจทย์เอสเอ็มอียางไทยแห่เข้าประกอบกิจการเต็มพื้นที่ทันที พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในวันนี้ (31 พฤษภาคม 2560 ) ว่า กนอ. ได้ให้การต้อนรับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชม และรับฟังบรรยายความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบล ฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 2/2 และ 3 บนพื้นที่ รวมประมาณ 1,218 ไร่ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ นักลงทุนวางแผนเริ่มเข้าใช้พื้นที่ได้ในต้นปี 2561 ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้ยั่งยืน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพาราที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปจากการวิจัยและพัฒนา เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยอย่างยั่งยืน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ "ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกน้ำยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เราไม่สามารถกำหนดราคายางพาราได้เอง ทำให้ราคามีความผันผวนและไม่มีเสถียรภาพ รวมถึงจุดอ่อนในการส่งออกวัตถุดิบราคาถูกไปขายให้ต่างประเทศที่นำไปแปรรูปด้วยเทคโนโลยีแล้วกลับมาขายให้เราในราคาแพง ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และบูรณาการ กับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนพัฒนาและวิจัยยางพาราเพื่อเพิ่มความต้องใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมสร้างกลไกผลักดันราคายาง ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้ กนอ.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลจัดตั้งนิคมฯทุกแห่ง ทั่วประเทศ ให้เข้าดำเนินการจัดตั้งนิคมฯดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบในการรองรับภาคอุตสาหกรรมยางพารา และมีการเชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาคส่วนตามแนวทาง พลังประชารัฐ จึงนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการยกระดับพื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการศึกษาวิจัยที่เชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่อุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ" พลเอก วรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ